ไทยเตรียมพร้อมรับมือ “สังคมสูงวัย” ครบทุกด้าน

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ไทยเตรียมพร้อมรับมือ


วงวิชาการแนะรัฐปฏิรูปกฎหมายรับมือ "สังคมสูงวัย" ให้ครบทุกด้าน


มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สรุปบทเรียนจากการประชุมวิชาการข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อประกอบการจัดทำ “แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3” เมื่อกลางเดือนมิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ดังนี้


นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้จัดการโครงการการทบทวนสถานการณ์ความต้องการระบบและเครื่องมือ ที่จะตอบสนองต่อปัญหาของผู้สูงอายุในประเทศไทยและการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง กล่าวว่า ปัญหาของผู้สูงอายุไม่ใช่สุขภาพอย่างเดียว ยังมีเรื่องการจ้างงาน ทักษะใหม่ ๆ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้เลี้ยงตัวได้ การมีกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม รวมถึงระบบสวัสดิการของรัฐ


ขณะที่ข้อเสนอเชิงนโยบายทางกฎหมาย นำเสนอโดย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส และ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคินสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ข้อสรุปว่าปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิด้านสุขภาพของผู้สูงอายุหลายฉบับ ที่เป็นหลักคือ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุพ.ศ.2546 ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ยังไม่ครอบคลุมสิทธิตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติ โดยขาดมาตรการคุ้มครองสิทธิในทางปฏิบัติ เน้นการสงเคราะห์ ให้กู้ยืมเงิน การช่วยเหลือเบื้องต้น ขาดมาตรการส่งเสริมให้กลุ่มองค์กรผู้สูงอายุให้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง และยังไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ หากเทียบกับเครือข่ายผู้พิการ ซึ่งมีความเข้มแข็งมาก ทั้งที่ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 บัญญัติเรื่องสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองส่งเสริม และสนับสนุนด้านต่าง ๆ อาทิ บริการทางการแพทย์ที่ให้ความสะดวกรวดเร็ว บริการนี้เคยทำในบางรัฐบาลบางชุดเป็นบางช่วงแต่ปัจจุบันไม่มี ทั้งนี้ กฎหมายมอบอำนาจให้หน่วยงานราชการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุเกือบทุกกระทรวง ทั้งการประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม การพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย ซึ่งกรณีหลังยังไม่เข้มแข็งนัก


อย่างไรก็ตาม ยังมีในส่วนที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมคือ การช่วยเหลือด้านค่าโดยสาร ยานพาหนะ ค่าเข้าชมสถานที่ รวมทั้งการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือน แต่หากกล่าวโดยสรุป กฎหมายฉบับนี้มีแนวคิดหลักคือ “รัฐมองว่าผู้สูงอายุไม่มีศักยภาพ อ่อนแอ ต้องให้การสงเคราะห์” กฎหมายขาดกลไกการคุ้มครอง หรือรับรองสิทธิที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง


ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส กล่าวเสริมว่า เนื่องจากกฎหมายผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นงานของกระทรวงสาธารณสุข เขียนไว้อย่างกว้าง ๆ ไม่มีอำนาจให้กระทรวงอื่น ๆ ดำเนินการ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ แนวทางแก้คือต้องทำ พ.ร.บ.แม่บทขึ้นมาใหม่ให้ครอบคลุมงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุทั้งหมด และให้กระทรวงอื่น ๆ รับนโยบายไปดำเนินการ โดยออกกฎกระทรวงขึ้นมารองรับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในส่วนงานขององค์กร


ไทยเตรียมพร้อมรับมือ


อีกด้านหนึ่ง มีการนำเสนอโครงการวิจัยทบทวนนโยบายกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุ โดย รศ.ดร.อัจฉรา ปุราคม และคณะ จากศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้กิจกรรมทางกายผู้สูงอายุแบบองค์รวม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งระบุว่า กิจกรรมทางกาย หรือ “การเคลื่อนไหวร่างกาย” มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุ เพราะทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน เนื่องจากพอคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวน้อยลง การที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยพัฒนาและปรับปรุงสุขภาพ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมไปพร้อม ๆ ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ควรเคลื่อนไหวแบบที่ออกแรงระดับกลาง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์” รศ.ดร.อัจฉรา กล่าว


รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้ 6 รูปแบบคือ การทำกิจกรรมทางกายที่บ้าน ในชุมชน ร่วมกับกลุ่ม กิจกรรมเพื่อลดภาวะเนือยนิ่ง กิจกรรมเพื่อป้องกันโรคเรื้อรัง กิจกรรมประกอบการใช้สมาร์ทโฟน เช่น แอพพลิเคชั่นที่มีการเตือนให้เคลื่อนไหวร่างกายทุกครึ่งชั่วโมงออกกำลังกายโดยดูตัวอย่างจากคลิปที่ได้รับจากแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นต้น ซึ่งควรทำแบบผสมผสาน ร่วมกับกิจกรรมนันทนาการ ช่องทางการเข้าถึงของผู้สูงอายุ และให้สอดคล้องกับบริบท และความต้องการของผู้สูงอายุด้วย


ทั้งนี้ ในการวิจัยมุ่งเน้นในมิติสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนกิจกรรมทางกาย การเดินทางอย่างอิสระ โปรแกรมและการเข้าถึงแหล่งข้อมูลกิจกรรมทางกาย 6 ด้าน โดยคำนึงถึงความปลอดภัย การเข้าถึง ความใกล้บ้าน ความสวยงาม ความน่ารื่นรมย์ และพื้นที่สีเขียว ตัวอย่างเช่น พัฒนานโยบายสิ่งแวดล้อม โดยเน้นความปลอดภัยในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ เดิน จักรยาน การพัฒนาพื้นที่อาคารสิ่งก่อสร้างที่ผสมผสานประโยชน์ใช้สอยร่วมกับการวางแผนการเดินทาง และการจัดโปรแกรมกิจกรรมทางกายให้กับผู้สูงอายุ


โดยเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่การเดินทางจากที่อยู่อาศัยกับสถานที่ปลายทาง ส่วนในเรื่องการเดินทาง ควรพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เดินทางด้วยความปลอดภัย สร้างระบบผู้ดูแลผู้สูงอายุเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ โดยใช้จิตอาสาในชุมชนปรับปรุงเส้นทางการเดินโดยแยกส่วนจากผิวจราจรทางรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ เข้มงวดกับผู้สูงอายุที่ขับขี่รถยนต์มากขึ้น เช่น ตรวจสอบศักยภาพการขับขี่ทุกปี เพื่อความปลอดภัยของทุกในพื้นที่สาธารณะ ปรับปรุงสัญญาณจราจรให้ผู้สูงอายุมองเห็นชัดเจน เป็นต้น


ไทยเตรียมพร้อมรับมือ


นอกจากนี้ รัฐสภา จุรีมาศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า  จากการที่ได้ไปสอนโรงเรียนผู้สูงอายุที่จังหวัดนครนายก สระแก้ว มีข้อสังเกตคือ ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดต้องการการมีตัวตนในชุมชน กรณีที่พบคือผู้สูงอายุไม่ออกจากบ้านเลย แต่พอเพื่อนออกมาเต้นแอโรบิก เขาก็ออกจากบ้านมาออกกำลังกายด้วย ภูมิใจที่ใส่ชุดนักเรียน และชอบให้เรียกว่านักเรียน สรุปได้ว่าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ต้องเริ่มต้นจากความสุข ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุอยากเข้าร่วม


อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้สูงอายุต่างจังหวัดไม่มีความสุขกับการจัดการทรัพย์สินของตัวเอง คิดว่าตนเองมีความรู้ไม่เพียงพอ ไม่แน่ใจว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้หมดปัญหาได้จริงหรือไม่ และเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ศ.แสวง ที่ว่าต้องดูแลคุณภาพชีวิตและการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ โดยเชื่อมสองส่วนเข้าด้วยกันกล่าวคือ ผู้ที่ดูแลทรัพย์สินต้องรับผิดชอบดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code