ไทยเดินหน้าสู่ศูนย์กลาง”ผู้นำอารยสถาปัตย์”

ไทยเดินหน้าสู่ศูนย์กลาง


"การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือโอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางเมืองอารยสถาปัตย์ในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุและกลุ่มผู้ทุพพลภาพ อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเชิงอารยสถาปัตย์ที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล โดยมีผลทางตรงที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม"


คำประกาศจาก พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงความมั่นใจชัดเจนว่า "ไทย" จะไปถึงจุดหมาย โอกาสแห่งการเป็น "ผู้นำอารยสถาปัตย์ในภูมิภาคอาเซียน" ภายในงาน "โอกาสประเทศไทย: เมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียน" หรือ Thailand Opportunity: Universal Design Hub of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) Community  ที่ ทูตอารยสถาปัตย์ โครงการขับเคลื่อนและพัฒนาอารยสถาปัตย์ไทยสู่เวทีโลก จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้นำเครือข่ายผู้พิการประเภทต่าง ๆ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง


อย่างไรก็ตาม รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มองด้วยว่า การสร้างเมืองอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการทำงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะในเชิงกายภาพ แต่ยังรวมถึงการเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยี และน่ายินดีที่ประเทศไทยมีนวัตกรรมใหม่ ๆ จำนวนไม่น้อย ถูกออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็ง  รวมไปถึงการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยกว่า 5 ประเภท ได้แก่ ทางลาดห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูลข่าวสาร แก่บุคคลทั้ง 2  กลุ่มในข้างต้น  เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างไทยเดินหน้าสู่ศูนย์กลางมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558


ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า แนวคิดเรื่องอารยสถาปัตย์เป็นเรื่องการออกแบบเพื่อทุกคน โดยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในประเทศชั้นนำ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มีการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน  และในขณะนี้จะเห็นว่าหลายหน่วยงานในประเทศไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง


"ในส่วนของ สสส.เองได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 4 ด้าน คือ 1.การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายในกลุ่มเยาวชนนักศึกษา ผู้บริหารองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 2.การผลักดันนโนบาย ระเบียบข้อบังคับร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 3. การสื่อสารสาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักของสังคม และ 4. การพัฒนากลไกการติดตาม และผลักดันขยายผลนโยบาย


การออกแบบเพื่อคนทุกคน จนทำให้เกิดองค์ความรู้ งานวิชาการต่าง ๆ เช่น การจัดคู่มือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาและสถาปนิก รวมถึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนสามารถนำผลงานเหล่านั้นไปกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ได้ โดยมีภาคประชาสังคมเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง" ผู้จัดการ สสส. ระบุขณะที่ผู้ผลักดันอย่าง กฤษนะ ละไล ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้นำองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องอารยสถาปัตย์จนเกิดผลทางการปฏิบัติ และเกิดการประสานความร่วมมือของทุกส่วน ในด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการทุกคนให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม


"อารยสถาปัตย์เป็นเรื่องของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากอาคาร สถานที่ บริการสาธารณะ และระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม ซึ่งเชื่อว่าหากเราช่วยกันขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทย ภายใน 5 ปี นับจากนี้ เราจะไปสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียนได้" ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์ แจงเพิ่ม


อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เคยกล่าวไว้ว่า เชื่อว่าในอีก 5 ปี นับจากนี้อารยสถาปัตย์ในอนาคตของประเทศไทย จะพัฒนามากขึ้น เพราะแนวคิดดังกล่าวเข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายระดับชาวบ้าน ชุมชน รวมถึงโรงแรม 5 ดาว ไทยเดินหน้าสู่ศูนย์กลางแม้แต่ห้างสรรพสินค้าที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่ ก็มีการคิดถึงเรื่องอารยสถาปัตย์ แต่ที่ต้องเร่งคือการบังคับใช้กฎหมายอารยสถาปัตย์ที่ยังไม่เข้มข้น แม้จะมีมานานกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม


อันธิกากล่าวต่อว่า อย่างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและทุพพลภาพ 5 อย่าง ที่อาคารขนาด 300 ตร.ม.ขึ้นไปต้องมี แต่ส่วนมากยังมีไม่ครบ เช่น ทางลาด ห้องน้ำคนพิการ ที่จอดรถสำหรับคนพิการ ป้ายบอก และอุปกรณ์สื่อสารสำหรับคนตาบอด เพื่อให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขอย่างเท่าเทียมแท้จริง


"หลายคนเริ่มเห็นความสำคัญของ อารยสถาปัตย์ แต่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพราะส่วนมากมองว่างานสถาปัตยกรรมต้องยิ่งใหญ่สวยงาม ไม่จำเป็นต้องคิดเผื่อผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกหลายสิบปี  กว่าทุกคนจะมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องปลูกฝังแนวคิดให้กับคนไทยตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนชั้นประถมศึกษา" อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม สจล.กล่าว


…ผลักดันกันสุดตัวด้วยความมุ่งมั่นเช่นนี้ ที่เหลือก็รอลุ้นว่า "ไทย" จะร่วมมือกันเดินทางไปสู่การเป็น "ผู้นำอารยสถาปัตย์" ในอาเซียนได้หรือไม่.


         


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code