ไทยลดเชื้อเอชไอวี แม่สู่ลูกเกือบเป็นศูนย์

กระทรวงสาธารณสุข เผยอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดในประเทศไทยเกือบเป็นศูนย์ พร้อมเตรียมเสนอองค์การอนามัยโลกรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก


ไทยลดเชื้อเอชไอวี แม่สู่ลูกเกือบเป็นศูนย์ thaihealth


แฟ้มภาพ


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายในงานวันเอดส์โลก Ready to stop new infection มุ่งสู่การยุติการติดเชื้อรายใหม่ในทารกแรกเกิด ณ ศูนย์อนามัยที่ 2 สระบุรี ว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการรายงานการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์เมื่อปี 2531 จากนั้นได้พบการขยายตัวอย่างรวดเร็วของปัญหาการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่ สู่ลูก ทำให้หลายองค์กรในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนานาชาติ ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการนำร่องและการวิจัยในด้านการป้องกันการถ่ายทอด เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศไทย


ซึ่งที่ผ่าน มากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถานบริการสาธารณสุข ดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยผสมผสานเข้ากับระบบบริการอนามัยแม่และเด็กของโรงพยาบาล เริ่มตั้งแต่ให้บริการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมผสมสำหรับทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อ เอชไอวี ตั้งแต่ปี 2536 และเริ่มมีการให้ยาต้านไวรัสสูตร Zidovudine (AZT) ในแม่และทารกเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกตั้งแต่ปี 2543 และมีการปรับเปลี่ยนสูตรยาต้านไวรัสเรื่อยมา จนกระทั่งได้แนะนำให้ยา Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) โดยเร็วที่สุดและต่อเนื่องหลังคลอด เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจาก แม่สู่ลูกเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับหลายประเทศ


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า ผลทางการศึกษาพบว่า การให้ยา HAART สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ประมาณ ร้อยละ 1 และไม่ก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาเมื่อหยุดยาหลังคลอด สำหรับเด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสหลังคลอด ทันที และจะได้รับนมผสมทดแทนนมแม่เป็นเวลา 18 เดือน และตรวจรับการวินิจฉัยติดเชื้อเอชไอวีอย่างรวดเร็วภายใน 4 เดือน ซึ่งแม่และลูกหลังคลอดจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง หญิงตั้งครรภ์ที่มีผลเลือดเอชไอวีลบจะได้รับคำแนะนำปรึกษา เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและให้คงผลเลือดลบตลอดไป ตลอดจนมีระบบกำกับ ติดตาม การดำเนินงานที่เข้มแข็ง ได้มาตรฐานเพื่อการเฝ้าระวังงานทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่


"จาก ผลการดําเนินงานในช่วงปี 2553 – 2554 ความครอบคลุมในการให้บริการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกอยู่ ในระดับสูง คือ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 94.1 และเด็กที่เกิดจากแม่ติดเชื้อร้อยละ 99 ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อลดการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ทําให้มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิด ร้อยละ 1.80 – 2.01 ซึ่งการให้บริการการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ ลูกมีกระบวนการดำเนินงานที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของทั้งระดับสากล และผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ ผลลัพธ์การดำเนินงานสามารถควบคุมการติดเชื้อในทารกแรกเกิดได้ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อม ที่จะเข้าสู่การรับรองจากองค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว


ทางด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ กรมอนามัยได้เข้าสู่กระบวนการในการขอรับรอง การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก (Validation : Elimination of Mother to Child Transmission (EMTCT) of HIV and syphilis) โดยได้ดำเนินการ อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อการขอรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก พร้อมทั้งมีคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ด้านระบบข้อมูลและผลลัพธ์การดำเนินงานป้องกัน ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกัน ตลอดจนขอความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อลงข้อมูล กำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยบริการ เป็นต้น


"เนื่องจากที่ผ่านมามีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 4,500 คนต่อปี ซึ่งหากไม่มีการป้องกันมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่ส่ลูกได้ 100 คน มาตรการที่กรมอนามัยดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ประกอบด้วย 1) สถานบริการสาธารณสุขทุกเครือข่าย ควรจัดให้มีการบริการปรึกษาทั้งก่อนและหลังการตรวจหาเอชไอวีอย่างมีคุณภาพ ควรให้คำปรึกษาแบบคู่ และเก็บผลการตรวจเป็นความลับอย่างเคร่งครัด โดยแจ้งให้ทราบเฉพาะรายบุคคลและผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอนุญาต เท่านั้น 2) หญิงตั้งครรภ์ทุกคนและสามีหรือคู่ครอง จะได้รับการปรึกษาแบบคู่และตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ เอชไอวีจะได้รับการตรวจเซลล์ CD4 และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูงหรือรักษาด้วยยาต้านไวรัส อื่น ๆ 3) เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัส เมื่อแรกเกิดจะได้รับนมผสมสำหรับเลี้ยงเด็กทารก และได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี และ 4) แม่ ลูก และสามีหรือคู่ครองที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสตามการติดเชื้อ การส่งเสริมสุขภาพ และติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


 


 


ที่มา : สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุข

Shares:
QR Code :
QR Code