ไทยป่วยความดันเพิ่มกว่า 5 เท่า ชี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเองป่วย-เสี่ยงหัวใจล้มเหลว

 

ไทยป่วยความดันเพิ่มกว่า 5 เท่า ชี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเองป่วย-เสี่ยงหัวใจล้มเหลว

 

กรมควบคุมโรคเผยรอบ 10 ปี คนไทยป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวเองป่วย เสี่ยงหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ ไตวายระยะสุดท้ายตามมาแนะ 3 หลักห่างโรค ควบคุมน้ำหนัก-เลือกสรรหาอาหาร-ใช้ชีวิตกระฉับกระเฉง

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลกและเครือข่ายความดันโลหิตสูงโลก (world hypertension league) กำหนดคำขวัญเพื่อการรณรงค์เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก ประจำปี 2555 คือ “healthy lifestyle healthy blood pressure” ส่วนคำขวัญเพื่อการณรงค์ในไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย คือ “ใช้ชีวิตดี ความดันโลหิตดี” โดยองค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเกือบ 1,000 ล้านคน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยพบว่าคนในวัยผู้ใหญ่ของเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยมีประชากร 1 ใน 3 คน มีภาวะความดันโลหิตสูง แต่ละปีประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน

ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์ป่วยและเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขด้วยโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาค เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-พ.ศ.2553) พบว่าอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่ม จาก 259 เป็น 1,349 ซึ่งถือว่ามีอัตรากาเพิ่มขึ้น 5.21 เท่า

นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า โรความดันโลหิตสูงเกิดจากภาวะที่แรงดันหลอดเลือดแดงมีค่าสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปซึ่งผู้คนจำนวนมากอยู่กับความดันโลหิตสูงโดยที่ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฎอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปแรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกายจึงเรียกโรคนี้ว่าเพชณฆาตเงียบ

สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็ม รับประทานผักและผลไม้ที่รสไม่หวานไม่เพียงพอ ความอ้วนขาดการออกกำลังกาย นั่งๆ นอนๆ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่และมีภาวะเครียดรวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ และเป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลวหลอดเลือดสมองแตก/ตีบ และมีแนวโน้มเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายได้

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคจึงมีหัวข้อหลักในการรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก 3 หลัก คือหลักที่ 1 ดูแลควบคุมน้ำหนักตัว หลักที่ 2 เลือกสรรและบริโภคอาหารที่ดี ลดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ และหลักที่ 3 ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงในทุกกิจกรรมที่เราทำเช่น การขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ทำสวน งานอดิเรก การเดิน การวิ่ง ควรลุกขึ้นมายืดเส้น เดินทุกๆ ชั่วโมง หากประสงค์จะตรวจวัดความดันโลหิตสอบถามได้ที่โทร.1422 และ 0-2590-3333

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code