ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย การเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ที่มา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์
ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever; Enteric fever) เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella enterica serovar Typhi พบได้ทั่วโลกโดยติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยโดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้จะเจาะทะลุผนังลำไส้แล้วถูกจับกินโดยเซลล์แมโครฟาจ (macrophage) จากนั้นเชื้อ Salmonella typhi จะเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองเพื่อดื้อต่อการทำลายและสามารถหลบหนีออกจากแมโครฟาจได้ กลไกดังกล่าวทำให้เชื้อดื้อต่อการทำลายโดยแกรนูโลไซต์ ระบบคอมพลีเมนต์ และระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นเชื้อก่อโรคจะกระจายไปทั่วร่างกายผ่านทางน้ำเหลืองขณะที่อยู่ในเซลล์แมโครฟาจ ทำให้เชื้อเข้าสู่ระบบเรติคูโลเอนโดทีเลียม (reticuloendothelial system) และไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
อาการ
หลักจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ ก็จะเข้าสู่ระยะฟักตัวของเชื้อโรค โดยไข้ไทฟอยด์จะมีระยะฟักตัวในร่างกายอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 21 วัน เมื่อพ้นระยะฟักตัวแล้ว ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีอาการแสดงของโรค โดยอาการเริ่มแรกและถือว่าเป็นอาการเด่นของการติดเชื้อไทฟอยด์ คือ ไข้ ไข้ในไทฟอยด์นั้นจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน โดยอุณหภูมิร่างกายอาจจะลดลงได้ในตอนเช้า จากนั้นก็จะค่อย ๆ สูงขึ้นอีก ไข้อาจสูงได้ถึง 39 – 40 องศาเซลเซียส โดยไข้จะเริ่มสูงคงที่หลังจากมีอาการมาแล้วประมาณ 7 วัน นอกจากนี้ยังสามารถพบว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะจับสั่น มีเหงื่อออก เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการเบื่ออาหาร นอกจากนี้ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 อาจมีภาวะเลือดกำเดาไหลได้ ในช่วงสัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์ที่สอง
การติดต่อ
การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะผ่านไปตามทางเดินอาหารส่วนต่าง ๆ โดยทั่วไปเชื้อโรคส่วนใหญ่ทั้งชนิดก่อโรคและไม่ก่อโรค มักจะถูกทำลายหรือทำให้หมดฤทธิ์จากกรดในกระเพาะอาหาร น้ำย่อย และเอนไซม์ต่าง ๆ แต่เชื้อก่อโรคไทฟอยด์สามารถทนทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้
กลุ่มเสี่ยง: ทุกอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ
พฤติกรรมเสี่ยง ที่พบเจอกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้
- การอยู่อาศัยหรือเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาด
- การทำงานในสถานรักษาพยาบาล
- การทำงานในห้องปฏิบัติการที่อาจได้รับการสัมผัสกับเชื้อโรค
- มีคนในครอบครัวป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัวได้
การป้องกัน
- ควรดื่มน้ำสะอาด ถ้าไม่แน่ใจควรดื่มน้ำสุก และกินอาหารที่สะอาด มีภาชนะปกปิดและไม่มีแมลงวันตอม ถ้าเดินทางไปในท้องถิ่นที่หาอาหารและน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะยาก ควรเตรียมอาหารและน้ำไปเอง โดยเฉพาะขณะที่มีโรคระบาด ไม่ควรกินอาหารนอกบ้าน จะเป็นการประหยัดและป้องกันโรคต่างๆ ที่ติดต่อทางเดินอาหารและน้ำได้อีกด้วย เช่น อหิวาต์ โรคบิด ฯลฯ
- ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ถ้าถ่ายลงหลุมควรกลบเสีย โดยเฉพาะอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย ผู้ป่วยเองควรระวังไม่ใช้มือหยิบอาหารให้ผู้อื่นกิน และควรแนะนำการระวังป้องกันแก่ผู้อื่นด้วย เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ผู้ที่มีอาชีพทำอาหารขาย เมื่อหารป่วยจากไข้ทัยฟอยด์ควรให้แพทย์ตรวจว่า ไม่มีเชื้อในอุจจาระแล้ว จึงจะทำอาหารขาย มิฉะนั้นจะทำให้โรคทัยฟอยด์กระจายไปยังลูกค้าที่มาอุดหนุน
- ควรฉีดวัคชีนป้องกันโรคทัยฟอยด์ 1-3 ปี จะช่วยป้องกันโรคได้มาก เด็กๆ อาจเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยเฉพาะเด็กที่กินอาหารที่ไม่ได้ทำเอง ซื้ออาหารมากิน