`ให้` เปลี่ยนสังคมกับแอพฟอร์เวิร์ด
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ชวนสร้างวัฒนธรรมของการ 'ให้' เปลี่ยนสังคม กับ 'แอพฟอร์เวิร์ด'
"จะสร้างคุณค่าให้กับตัวเรา ก่อนอื่น เราต้องเรียนหนังสือ แต่เราก็ไม่มีโอกาสเพราะเราพิการทางร่างกายและพิการทางสมอง ด้วย จะเรียนได้อย่างไร ผมเดินเข้าไปหานักสังคมสงเคราะห์เพื่อขอโอกาส ต่างจากคนทั่วไปที่โอกาสเดินมาหาเขา แต่มองว่ามีข้อดีว่าเราจะมีจุดมุ่งหมายได้ดีกว่า แรก ๆ เขาไม่เรียน บอกเขาว่าถ้าเรียนไม่ได้ขอลาออก" ครูเชาว์ เชาวลิต สาดสมัย เล่าย้อนไปเมื่อตอนที่ต้องการเรียนหนังสือ จนฝ่าฟันจบปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ เอกพลศึกษา ม.เกษตรศาสตร์
เมื่อเรียนจบแล้วครูเชาว์ บอกว่า ไม่ได้สมัครงานหรือเป็นครูในระบบราชการ แต่เลือกที่จะไปสอนหนังสือในชุมชนแทน ซึ่งไร้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน แต่ครูเชาว์บอกว่าต้องการมอบโอกาสให้กับเด็กที่ขาดโอกาสในชุมชน ได้เรียนหนังสือและมองว่าเขาจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะลดปัญหาเด็กในชุมชนไม่ให้ไปยุ่งกับยาเสพติด ไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นขยะของสังคมต่อไป
ครูเชาว์ได้ผลักดันให้ชุมชนมีร้าน ศูนย์บาท ร้านที่คนในชุมชนนำขยะมาแลกเพื่อให้ได้ ถุงเท้า น้ำมันพืช เครื่องใช้อุปโภคต่าง ๆ ภารกิจของครูเชาว์คือ การสานต่อ โครงการศูนย์สร้างโอกาส ด้วยการนำเงินบริจาคช่วยเหลือกลุ่มคนที่ขาดโอกาสอย่างต่อเนื่อง
ฟังเรื่องราวของครูเชาว์ ครูจิตอาสาพอสังเขป ภาพตัดฉับมาที่ "คุณนุช อรนุท เลิศกุลดิลก กับโครงการ forOldy ในฐานะผู้หญิงวัยกลางคน คุณนุชเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีในการขยายรอยยิ้มให้กับผู้สูงอายุ พยายามจะไปส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุในชุมชนแออัดให้เป็นระบบ ในเบื้องต้นรวมกลุ่มผู้สูงอายุและรวมกลุ่มผู้สูงอายุเปราะบางที่ออกมาไม่ได้ เช่น ติดเตียง ซึมเศร้า เหงา กินไม่อิ่ม พาอาสาสมัคร ไปเยี่ยมเติมเต็มด้านจิตใจ ไปคุยเป็นเพื่อนบ้าง จัดยา จัดบ้าน เลี้ยงแมว บางครั้งไปรับฟัง ฟัง อย่างเดียว ให้ผู้สูงอายุบ่นถึงลูก นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางขอรับบริจาครถเข็น เตียง ออกซิเจน ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ขาดแคลน
โครงการ The Prison Project โดย "บอม" สิทธิศักดิ์ สินเจริญ ให้โอกาสและความภูมิใจกับผู้ต้องขังที่พ้นโทษ โดยระดมทุนจากการเล่นคอนเสิร์ต ขอบริจาคจากคนใกล้ชิด โดยพาครูฝึกอาชีพทำกีตาร์ และซ่อมกีตาร์มาสอนให้ผู้ต้องหาที่พ้นโทษ
"ในแต่ละปีมีผู้ต้องขังพ้นโทษมาประมาณ 30,000 คน บางคนไม่มีที่ไปไม่มีอาชีพ ครอบครัวถูกตัดขาด ไม่มีความภูมิใจในชีวิต แม้อยู่ในห้องขังจะได้รับการฝึกอาชีพทำไม้กวาดบ้าง สานเสื่อบ้าง แต่มองว่ายังไม่พอ สังคมเปลี่ยนไป เราอยากหาอาชีพที่ทำให้เขารู้สึกภูมิใจ อาชีพที่น้อยคนทำไม่ได้"
ตัวอย่างของคนจิตอาสาที่สร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งการให้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้อง การพลังทั้งแรงกายและเงินเพื่อไปสานต่องานจิตอาสาให้ล่วงสมบูรณ์และยั่งยืน สื่อสารให้เห็นว่าการทำบุญถูกต้อง ถูกที่และเหมาะสม จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง สังคมไทยยังมีคนด้อยโอกาส เด็ก คนแก่ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งแต่ละปีเงินทำบุญของคนไทยหมื่นล้าน แต่ปรากฏว่าไปไม่ถึงคนกลุ่มคนดังกล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทุกมิติ ครอบคลุมมิติกาย จิต ปัญญา และสังคม สนับสนุนการพัฒนา จิตสู่ "จิตใหญ่" เชื่อมโยงตนและเห็นแก่ส่วนรวม จึงสนับสนุนการจัดทำแอพพลิเคชั่น FORWARD เป็นสื่อกลางในการให้เพื่อส่งต่อการให้ที่เป็นรูปธรรม สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนว่าสิ่งที่ให้ถึงผู้รับจริง
"มิติทางปัญญา เราต้องการให้คนคิดเลยมาจากตัวเองมาถึงเรื่องสังคม เป็นวิธีคิดที่ลึกซึ้งทางปัญญา"
แอพพลิเคชั่น FORWARD จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ให้และผู้รับได้ร่วมสร้างสรรค์โอกาสที่ดีไปด้วยกัน ซึ่งทำได้โดยการสร้างโครงการที่เราเล็งเห็นแล้วว่าต้องการความช่วยเหลือ ลงในแอพพลิเคชั่น FORWARD พร้อมเขียนรายละเอียดในสิ่งที่ต้องการ เช่น การช่วยระดมเงิน หรือ การประกาศรับจิตอาสา และสามารถทำได้อีกหลายกรณีที่เป็นการส่งต่อการให้ไปด้วยกัน ขณะนี้แอพพลิเคชั่นมีโครงการทั้งหมด 5 โครงการ รวมทั้งโครงการที่กล่าวข้างต้น 3 โครงการ ซึ่งสามารถตรวจสอบแต่ละโครงการได้อย่างโปร่ง ใสในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Forward Foundation ลงในสมาร์ทโฟน ได้ทาง ios และ android หรือติดตามรายละเอียดได้www.facebook.com/forward foundationth