ใส่ใจ”อาชีวอนามัยในระบบสุขภาพปฐมภูมิ”
หากทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บย่อมตามมา การดูแลความปลอดภัยในชุมชน สถานประกอบการวันนี้ต้องใส่ใจจริงจัง จะต้องมีอุดมการณ์คำนึงประโยชน์สุขและความเจริญรุ่งเรืองดีงาม เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะมีการทำอย่างเป็นระบบตามอุดมการณ์นั้นแต่ความเป็นจริงมีภาพที่น่าเป็นห่วงอยู่มากคือ จำนวนหนึ่งเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก หรือ แรงงานนอกระบบที่ไม่มีระบบในการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน ไปจนถึงระบบการให้การรักษา การชดเชย ยังเกิดขึ้นน้อยมาก
ความห่วงใยนี้ผลักให้แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งและต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จริงจัง จึงเตรียมนำความคืบหน้าการดำเนินงาน มานำเสนอภายในงานเวที”สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” จัดขึ้นโดย สสส. และ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ในระหว่างวันที่ 28-29 เดือนพฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มีข้อมูลที่น่าสนใจอาทิ”การจัดบริการอาชีวอนามัยในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ” และ”นวัตกรรมชุมชนเพื่อจัดการความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ”
เกี่ยวกับเรื่องนี้นางอรพิน วิมลภูษิต สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. เล่าถึงการติดตามเรื่องอาชีวอนามัย ว่า ข้อมูลของโรคจากการทำงานหรืออาชีวอนามัยมีข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจำนวนบุคลากรที่ทำงานด้านนี้โดยตรงการจัดระบบบริการสุขภาพให้กับแรงงานนอกระบบ การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้ขาดการผลักดันเชิงนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณ
“โรคที่เกิดจากการทำงานเป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจง หากเกิดการเจ็บป่วยเนื่องมาจากการทำงานแล้วไม่มีการแก้ไขที่สาเหตุเช่น ปวดหลังเป็นประจำแต่เกิดมาจากลักษณะหรือสถานที่ทำงานที่ไม่เหมาะสมเมื่อพบแพทย์รับยาอย่างเดียวโดยไม่แก้ไขสภาพการทำงาน ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะความจริงจำเป็นต้องปรับแก้สภาพแวดล้อมไปด้วย”นางอรพิน กล่าว
แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานฯ มีการประสานความร่วมมือกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขภาคีเครือข่ายแรงงาน ทั้งการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขด้านอาชีวอนามัยในระดับปฐมภูมิ เชื่อมต่อข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข และนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรเครื่องมือ และการจัดอบรมบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เพื่อให้เกิดการตรวจคัดกรองและเก็บข้อมูลได้และให้คำแนะนำได้
นอกจากในส่วนของผู้ให้บริการ ยังมีการสร้างความร่วมมือของชุมชน การสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการที่พึ่งพิงอยู่กับแรงงานนอกระบบโดยการพัฒนาเครื่องมือ คู่มือการพัฒนาผู้นำอาสาสมัครอาชีวอนามัย (อส.อช.) เพื่อเป็นกลไกการให้ความรู้และเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย
ความเข้มแข็งในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่แล้วแรงงานนอกระบบ จะประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนนั้นๆ เอง
นวัตกรรมที่เกิดขึ้นนำไปสู่อันตรายต่อร่างกายถ้าไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน เช่น กลุ่มอาชีพผลิตเฟอร์นิเจอร์ หน่วยบริการสุขภาพจะทำหน้าที่คัดกรองความเสี่ยงโดยการเจาะเลือดหาสารทำละลายจากการสัมผัสสารเคมี ตรวจสมรรถภาพปอดและตรวจการได้ยิน การให้คำแนะนำและการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสียง ฝุ่น เป็นต้น ถือเป็นเรื่องของการเน้นการป้องกันโรคเนื่องมาจากการทำงาน
บางพื้นที่มีการตื่นตัวจัดตั้ง”ประชาคมตำบลเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่มีมิติอาชีวอนามัย” ขึ้นการให้ความสำคัญและใส่ใจกับการเฝ้าระวัง จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการทำงานอย่างหนัก แต่ไม่คำนึงอาชีวอนามัยพื้นฐาน ที่สุดจะทำให้เกิดต้นทุนที่สูงมากโดยเฉพาะต้นทุนของสุขภาพร่างกายที่ต้องเสียไป ถือเป็นความไม่คุ้มค่าที่จะแลกมา
“ร่างกายไม่ใช่เครื่องจักร” ที่จะเปลี่ยนอะไหล่หรือเติมน้ำยา เพื่อซ่อมบำรุงได้ “อาชีวอนามัยสุขภาพปฐมภูมิ” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ