ใช้ “มิติสังคม”รักษาโรค
คงต้องหาเหตุผลกันยกใหญ่ถ้าต้องตอบให้ว่า ณ ส่วนใดในระบบสาธารณสุขที่จำเป็นที่สุดต่อการพัฒนา ด้วยสำนึกทุกคนย่อมรู้ดีว่าประสิทธิภาพของการทำงานในทุกเรื่องไม่จำกัดที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
แพทย์-พยาบาล-อุปกรณ์ที่ทันสมัย-ความร่วมมือจากคนไข้ หรือกฎหมายที่ครอบคลุมสัก2-3ฉบับ จึงไม่น่าใช่คำตอบสุดท้าย แต่เมื่อลองเปลี่ยนโจทย์เป็นว่า อะไรในระบบสาธารณสุข ที่สามารถพัฒนา-เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มอะไร เชื่อว่าแพทย์หรือคนไข้ซึ่งเสมือน “ผู้ให้”และ”ผู้รับ” น่าจะเป็นคำตอบแรกๆ เช่นเดียวกับปัจจัยอย่างมิติทางด้านบริบทสังคม ทั้งนี้เพราะทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม ถูกขับเคลื่อนได้จากภายในตัวผู้ปฏิบัติเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอย่างเงินทุน เทคโนโลยี ฯลฯ ที่ไม่รู้จะสบโอกาสเมื่อใด
“มิติการพัฒนาคุณภาพด้านบริการสาธารสุขนั้นมีหลายประการ หากแต่สิ่งที่ทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ และลงทุนน้อยที่สุดคือบุคลากรที่ทำหน้าที่ซึ่งดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น “คือหลักคิดขั้นแรกของ” โครงการการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน(sha) ที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เลือกเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการสร้างระบบสุขภาพ
รศ.นพ.อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่6 สสส.สรุปหลักคิดนี้แบบสั้นๆว่า การพัฒนาคุณภาพด้านบริการสาธารสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เสมอไป เพราะสิ่งที่บุคลากรด้านระบบสุขภาพสามารถพัฒนาได้เลยคือการเพิ่มรายละเอียด ดังนั้นแนวที่ควรสร้างเป็นแบบอย่างจึงเน้นไปที่มิติทางด้านจิตใจ-สังคม
ดั่งที่การปรับเปลี่ยนระบบคุณภาพให้อยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเอื้ออาทรให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมจะเป็นแบบอย่างของการสร้างเสริมสุขภาพในด้านต่างๆ อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม การสอดแทรกหลักการเสริมสร้างพลังใจแก่ผู้ป่วย การทำงานกับชุมชนโดยการวางเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้โรงพยาบาลเกิดการสร้างเครือข่ายเรียนรู้เสมือนใช้ด้านดีของสังคมรักษาอาการป่วย
“และหากจะเปรียบแนวทางนี้กับวงจรทางการแพทย์ต้องถือว่านี่คือ “ต้นทาง”ของระบบสุขภาพ กล่าวคือเป็นการเจาะจงไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับ รื้อความสัมพันธ์ในระบบสังคมของคนไทยที่มีอยู่เดิมออกมา ซึ่งแตกต่างและเป็นคนละประเด็นกับการออกกฎหมาย หรือการมุ่งพัฒนาโดยเน้นวัตถุเพียงอย่างเดียว เพราะนั้นเปรียบได้กับ “ปลายทาง”และเป็นเรื่องภายนอก”รศ.นพ.อำนาจกล่าว
เหตุนี้วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมที่บ่มเพาะมายาวนาน จึงถูกส่งผ่านจากผู้ให้บริการ (แพทย์) ไปสู่ตัวผู้รับ (คนไข้) ไม่ต่างจากเวชภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์
นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน อ.รามัน จ.ยะลา หนึ่งใน 64สถานพยาบาลที่ร่วมโครงการฯ ระยะที่2 กล่าวว่า การใช้มิติทางสังคม ทางจิตวิญญาณเพื่อเข้าถึงผู้ป่วยนั้นอาจฟังเป็นเรื่องนามธรรม แต่แท้จริงแล้วเมื่อถอดความหมายในเนื้อหาตามหลักโครงการฯจะทราบว่าสิ่งที่ถูกสอดแทรกมานี้ล้วนเป็นรูปธรรมทั้งสิ้น
นพ.รอซาลี อธิบายว่า ตัวอย่างกรณีที่คนไข้มีอาการปวดหัว ซึ่งมีสาเหตุทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่าเกิดจากความตึงของกล้ามเนื้อที่บริเวณใบหน้าและลำคอ ส่งผลถึงประสาทรับความรู้สึกที่อยู่บริเวณหนังศีรษะและเยื่อหุ้มสมอง แต่ขณะเดียวกันต้นตอของอาการเหล่านั้นกลับมีเหตุจากที่มาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดของการทำงาน-ครอบครัว – คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่-เศรษฐกิจ
“ดังนั้นกระบวนการรักษาย่อมไม่ใช่จำกัดที่เพียงการจ่ายยา แต่ต้องรู้ลึกเข้าไปถึงความต้องการว่าเขาต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องใด คนทำงานสาธารณสุขจึงต้องไม่มองแค่อาการเจ็บป่วย แต่ต้องมองไปไกลถึงขนาดว่าเขาจะมีความสุขได้อย่างไร” นพ.รอซาลี บอก
ส่วนความเป็นสังคม-วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพ ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างโลกวิทยาศาสตร์กับโลกแห่งสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น นพ.รอซาลี ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ว่า ในบริบททางศาสนาของชาวมุสลิมนั้น มักนิยมคลอดลูกกันที่บ้านเพราะสาเหตุที่ว่า มุสลิมมีความต้องการให้ผู้นำศาสนาได้อ่านคัมภีร์อัลกุรอานไปพร้อมๆกับวินาทีที่ชีวิตใหม่กำลังจะลืมตาดูโลก
“แต่การคลอดที่บ้านนั้นมันก็มีอุปสรรคที่ผู้ทำคลอดไม่มีความชำนาญพอหรือเครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน เราเป็นหมอเราก็ห่วงว่าสุขภาพแม่และลูกว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อคิดถึงความเป็นมนุษย์และเชื่อมโยงมิติทางสังคม เราก็พลิกวิธีคิดจนทำให้ห้องทำคลอดที่โรงพยาบาลต้องมีผู้นำศาสนาประจำอยู่ ต่อไปเด็กที่เกิดมาจะได้ฟังคำสวดจากคัมภีร์และได้รับการคลอดที่ดีด้วย”
“หลักคิดแบบนี้จริงๆมันมีมานานแล้วในสังคมไทย เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหมอ-คนไข้ แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร โครงการ sha ได้จัดระบบให้ พร้อมกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ความเชื่อนี้มันชัดขึ้น”ผอ.รพ.รามันกล่าวเสริม
ส่วน “หทัยกร กิตติมานนท์” หัวหน้าหน่วยบริการทรัพยากรสุขภาพ รพ.รามาธิบดี อธิบายว่า แนวคิดดังกล่าวได้กระตุ้นให้คนทำงานเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ บนเป้าหมายการมีระบบสุขภาพที่ดี
อย่างไรก็ตาม “เธอ” ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบทต่างกัน อาทิ ขนาดของโรงพยาบาล แผนกของโรค จำนวนผู้เข้ารับการรักษาฯลฯ ดังนั้นการนำเอาหลักคิดไปใช้ต้องแตกต่างกันด้วย โจทย์ขอใหญ่ที่แต่ละสถานพยาบาลต้องนำไปประยุกต์ต่อ นั่นคือจะนำเอาหลักคิดการสร้างคุณภาพด้วยมิติทางสังคมเช่นนี้ให้เกิดขึ้นจริงและเหมาะสมได้อย่างไร
“shaเปรียบเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนทำงาน แต่อาวุธที่ได้มาจะไปใช้อย่างไรขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละพื้นที่นั่น เพราะต้องยอมรับว่าความใส่ใจอาจแปรไปตามเรื่องของระยะเวลาการพบแพทย์และจำนวนผู้ป่วย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมว่าแผนกใดของสถานพยาบาลควรเน้นที่จุดไหนอย่างไร”
“มิติทางสังคมกับระบบสุขภาพต้องไม่แยกออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวคนไข้ หรือบุคคลากรทางการแพทย์ เพราะหลักคิดนี้ได้ถูกสะท้อนผ่านระบบการทำงานของคนในองค์กรเองมาแล้ว เมื่อนำหลักนี้มาใช้พบว่าการทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายให้เกิดการทำงานร่วมกันดีมากขึ้น”หทัยกร ยืนยัน
เช่นเดียวกับสถานพยาบาลต้นแบบรับร้อยแห่งทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเผยแพร่กระบวนการคิดเหล่านี้ออกไปในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรมหลังสิ้นปีพ.ศ.2554 ให้สอดคล้องกับความต้องการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพด้านสาธารณสุข
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
update : 24-08-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศยามล เซ่งซิ้ว