‘ใช้ยามุ่งเป้า’ หนึ่งในแนวทางรักษามะเร็ง

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ


มะเร็งเป็นโรคร้ายที่รักษาหายขาดยาก และมะเร็งในบางจุดยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ เมื่อไม่ทราบสาเหตุจึงป้องกันยาก ทั้งหมดที่ว่ามาล้วนเป็นความน่ากลัวอย่างยิ่งของโรคนี้ แต่ความหวังของมวลมนุษยชาติก็คือ ในขณะที่โรคพัฒนาตัวเอง เทคโนโลยีทางการแพทย์ก็พัฒนาไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะต่อสู้กับโรคนี้ได้จึงมีมากขึ้น


ใช้ยามุ่งเป้า แนวทางใหม่รักษามะเร็ง thaihealth


ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาโลหิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตการรักษามะเร็งแบบใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) จะถูกนำมาใช้มากขึ้น และการรักษาแบบเคมีบำบัดหรือการทำคีโมจะลดบทบาทลง คาดว่าน่าจะเห็นได้ชัดในอีก 5 ปีข้างหน้า


ในวงการแพทย์ระดับโลก ยามุ่งเป้าเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยยังนำมาใช้ไม่มากนัก เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7 หลัก จึงมีเพียงผู้ป่วยที่มีฐานะเท่านั้นที่ได้รับการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า


ข้อดีของการรักษาแบบใช้ยามุ่งเป้าคือมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากกว่ายาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และส่งผลข้างเคียงน้อย เนื่องจากยาแบบมุ่งเป้าจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ที่เป็นมะเร็งโดยตรง แต่ไม่กระทบต่อเซลล์ข้างเคียงที่ไม่มีปัญหา ต่างจากการใช้คีโมที่ทำลายเซลล์ทุกตัวที่เจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ปกติ


อย่างไรก็ตาม คุณหมอบอกว่า ปัญหาในอนาคตที่เมืองไทยต้องเตรียมรับมือคือ เรื่องที่คนไข้ไม่สามารถเข้าถึงยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาราคายาที่อยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งหากดูสถานการณ์การเข้าถึงยาในปัจจุบัน คนไข้ยังไม่สามารถเข้าถึงยาหลายชนิด อย่างเช่น ยาแอนติบอดีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น


ทั้งนี้ นายแพทย์ธานินทร์แสดงความเห็นว่า แม้ว่ายามุ่งเป้าจะเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาและเห็นผลดีกว่า แต่การนำเข้ายาจะต้องเลือกที่มั่นใจว่าเห็นผลดีจริง ไม่ควรนำเข้ามาทั้งหมด เพราะราคาสูงมาก


คุณหมอบอกอีกว่า ยามุ่งเป้าสำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตัวหนึ่งที่อยากแนะนำให้มาใช้ในไทยคือ ไอบรูทินิบ (Ibrutinib) เนื่องจากให้ประสิทธิภาพสูง คุ้มค่า และได้รับความสนใจจากแพทย์จำนวนมาก โดยได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น อัศวินขี่ม้าขาวในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเลยทีเดียว

Shares:
QR Code :
QR Code