ใช้ค่ายอาสาฝึกเด็กวิเคราะห์ปัญหา
หนุนนักศึกษาทั่วประเทศทำค่ายสร้างประสบการณ์ ปลูกฝังความคิดเรื่องจิตอาสา สร้างทักษะเยาวชนให้เป็นนักปฏิบัติการทางสังคม
น.ส.พนิดา บุญเทพ ผู้จัดการโครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข) มูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปี 2558 ได้ดำเนินโครงการค่ายอาสาฯ ปีที่ 9 ขึ้น โดยสนับสนุนให้นักศึกษาทั่วประเทศทำค่ายสร้างประสบการณ์ ที่เน้นพัฒนาทักษะเยาวชนให้เป็นนักปฏิบัติการทางสังคม ปลูกฝังความคิดเรื่องจิตอาสา พัฒนาสุขภาวะตนเองกับชุมชน ซึ่งรูปแบบจะเน้นการกระจายทีมงานค่ายไปสู่ระดับภูมิภาค โดยมีพี่เลี้ยงระดับภาคคอยสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่รวมกิจกรรม จำนวน 75 กลุ่ม แบ่งเป็น ภาคเหนือ 14 กลุ่ม ภาคกลาง 13 กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 กลุ่ม ภาคใต้ 24 กลุ่ม และให้แต่ละค่ายมีอิสระออกแบบค่ายตามศักยภาพและความสนใจของท้องถิ่น ซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มนักศึกษาภาคใต้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสนใจเรื่องสิทธิและทรัพยากรในชุมชน เป็นต้น
น.ส.พนิดา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มช่วงแรกปลายพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ เน้นพัฒนาทักษะแกนนำในระดับภาคกับกลุ่มเยาวชน จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ให้ลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาปัญหาของชุมชนในการทำค่าย เป็นเครื่องมือเรียนรู้ โดยไม่เน้นใหความสำคัญกบการสร้างวัตถุหรือการให้แบบครั้งเดียวจบโดยปราศจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักศึกษากับสังคมภายนอก ทั้งนี้ คาดหวังให้การทำค่ายได้สร้างนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ๆเกิดการรวมตัวของคนทำงานจนเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถพัฒนากรทำงานได้หลากหลายตามสถานการณ์ มีสำนึกความเป็นพลเมือง สามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาได้ และเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
"การสร้างเยาวชนที่สอดคล้องกับปัจจุบัน คือการสนับสนุนให้คิดเป็นวิเคราะห์ปัญหาที่มีความเชื่อมโยงหลายมิติได้ และไม่ลืมที่จะรวมกลุ่มคนทำงานที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งนอกจากนักศึกษาที่มาออกค่ายแล้ว เรายังได้พัฒนาศักยภาพกลุ่มพี่เลี้ยง ซึ่งเคยร่วมกิจกรรมพร้อมกับประสานงานกับองค์การที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มนักศึกษาได้มีทักษะเพื่อปฏิบัติงานเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง" ผู้จัดการโครงการกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต