‘โอ่งชีวิต’ มีรอยรั่วหรือเปล่า
ที่มา : แฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่
ภาพประกอบจากแฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่
ต้องยอมรับว่าชุมชนที่จะน่าอยู่ได้ ส่วนหนึ่งคือการมีผู้นำชุมชนที่สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงาน ซึ่งผู้นำชุมชนจะต้องเปิดกว้างรับฟังความความคิดเห็น และรับรู้ความต้องการในพื้นที่
ที่บ้านทุ่งยาว หมู่ 7 ตำบลโคกชะงาย อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นชุมชนเกษตรกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินจากการพึ่งพิงการทำการเกษตรโดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมี ทำให้มีสารตกค้างในดินและในแหล่งน้ำ ประกอบกับชุมชนยังขาดการจัดการเรื่องขยะจนทำให้เกิดปัญหาโรคไข้เลือดออกตามมา แต่ปัญหาเหล่านี้เริ่มลดลงเมื่อชุมชนตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันจัดตั้ง “สมาชิกสภาผู้นำชุมชน” ขึ้นโดยมีตัวแทนจากหลากหลายอาชีพในชุมชนเข้ามาเป็นกลไกช่วยกันขับเคลื่อน
พลภัทร คงแก้วขาว กำนันหนุ่มแห่งตำบลโคกชะงาย ยอมรับว่า ลำพังเขาเพียงคนเดียวไม่สามารถผลักดันให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่การทำหน้าที่ผู้นำชุมชนจึงมองเห็นและเข้าใจปัญหาได้อย่างดี หลังจากการพูดคุยกับลูกบ้านทุกเดือน ที่ประชุมเห็นว่าควรจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนขึ้น เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของหมู่บ้าน การจะรู้ข้อมูลว่ามีปัญหาอะไรนั้น ต้องไปดูข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่กรมพัฒนาชุมชนได้สำรวจไว้ ควบคู่กับบัญชีครัวเรือน ซึ่งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้สอนให้ทุกครัวเรือนรู้จักการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครัวเรือนอยู่แล้ว และอธิบายเปรียบเทียบว่าทุกครัวเรือนเสมือน “โอ่งชีวิต” ที่มีรายรับเข้าทางปากโอ่งแต่มีรูรั่วของโอ่งที่ทำให้น้ำไหลออกตลอดเวลา
โอ่งชีวิตมีรูรั่วหลายด้านที่ต้องอุด แต่ต้องเรียงลำดับความสำคัญ สภาผู้นำชุมชนและสมาชิกเห็นว่าสิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่จะทำให้เดินต่อไปได้คือการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้
สิ่งที่ทำได้ทันทีเพื่อลดต้นทุนคือ การปลูกผักกินเอง การทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำยาล้างจาน ให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการคัดแยกขยะ ทำให้มีรายได้จากขยะในครัวเรือน ช่วยลดปัญหาขยะในท้องถิ่นไปด้วย
ฉันว่า…สภาผู้นำชุมชนที่บ้านทุ่งยาว เขาเป็นคนช่างคิด เปรียบชีวิตดังเช่นโอ่ง เชื่อมโยงให้คนได้คิดภาพตาม จนสามารถหาทางอุดรอยรั่วของโอ่งชีวิตได้.