โอกาสครั้งใหม่ ที่บ้านดอนมัน
ยกระดับเป็นชุมชนปลอดยาเสพติด
บ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมีประชากรเพียง 150 คน 40 ครัวเรือน ในมุมมองของใครหลายคน อาจคิดว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านธรรมดาทั่วไป แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่บ้านดอนมันเป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพราะในหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นชุมชนที่พัฒนายกระดับเป็นชุมชนปลอดยาเสพติด และเป็นศูนย์บำบัดเยาวชนที่มีคดียาเสพติด
นายอดิศร เหล่าสะพาน กำนัน ต.ขามเรียง บอกว่า เดิมทีบ้านดอนมัน เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ชาวบ้านเล่นการพนัน มีภาระหนี้สินมากมาย ทั้งยังมีปัญหาความแตกแยกในหมู่บ้าน
หลังจากเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดโครงการขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปจากบ้านดอนมัน โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนประสบความสำเร็จ สามารถเป็นหมู่บ้านปลอดความยากจน ทั้งยังเป็นแหล่งควบคุม และอบรมบ่มนิสัยของผู้กระทำความผิด โดยสำนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ก่อนพ้นโทษด้วย
เมื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านปลอดความยากจนแล้ว จากนั้นในปี พ.ศ.2551 สำนักงานประพฤติจังหวัดมหาสารคาม ได้มาศึกษาดูงานในหมู่บ้าน และเห็นว่าหมู่บ้านแห่งนี้สามารถเป็นที่อบรมบ่มเพาะนักโทษชั้นดี ให้เป็นคนดีก่อนออกไปใช้ชีวิตตามปกติในสังคม
จากนั้นจึงประชุมพูดคุยกับชาวบ้านว่า การที่จะช่วยคนไม่ควรเลือกว่าคนนั้นจะเป็นอย่างไรมาก่อน และชาวบ้านควรมีส่วนช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ทางสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคาม จึงนำนักโทษชั้นดี 21 คนมาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ โดยมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ ในหมู่บ้าน และชาวบ้านเป็นวิทยากรในการทำกิจกรรม ให้แก่ผู้บำบัดระหว่างอยู่ในหมู่บ้าน
ในความคิดของกำนันอดิศร มองว่า การศึกษาดูงานในบ้านดอนมัน เสมือนการเข้ามาเยี่ยมเยียนของญาติพี่น้อง ทุกคนในหมู่บ้านเป็นพ่อแม่ ขณะที่ผู้กระทำผิดทุกคนเป็นลูก โดยพ่อแม่มีหน้าที่ขัดเกลาจิตให้ลืมฝันร้ายที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต
หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี ชาวมหาสารคาม หนึ่งในนักโทษผู้เข้าบำบัด ร่วมถ่ายทอดให้ฟังว่า ครั้งแรกที่เข้ามาอยู่บ้านดอนมัน รู้สึกอึดอัด แต่เมื่อเข้ามาอยู่แล้ว ที่แห่งนี้เป็นแหล่งให้ความรู้ให้อาชีพ ให้ชีวิตใหม่ เพราะคนในหมู่บ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่ออยู่ในบ้านดอนมันทำให้ใจเย็น มีจิตที่เข้มแข็งไม่หันไปยุ่งเกี่ยวยาเสพติดอีก
“สิ่งแรกที่ห้ามกระทำเมื่อเข้าไปอยู่ที่บ้านดอนมัน คือห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และอบายมุขทุกชนิด แม้ในตอนแรกจะมีปัญหากับคนอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ใช้กำลังตัดสิน หากใช้การพูดคุยกัน มากกว่าเพื่อแก้ไขปัญหา และทำให้ได้ข้อคิดว่า เหล้า บุหรี่หรือยาเสพติดชนิดใด ไม่ใช่ส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์เลย แต่การอยู่อย่างมีความสุขในสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
เช่นเดียวกับหนุ่มน้อยวัย 20 ปี จาก จ.เลย อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมบำบัดที่บ้านดอนมัน บอกว่าบ้านดอนมันเปิดโอกาสให้ได้กลับเนื้อกลับตัว ได้ฝึกความอดทน และความรับผิดชอบ เสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2
“ที่นี่ทำให้เป็นคนใหม่ รู้จักแยกแยะสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ทำให้รู้ว่าผมก็สามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้ ตอนนี้ได้ทำงานเป็นพนักงานขายสินค้าอยู่ในมินิมาร์ทแห่งหนึ่งใน จ.เลย ตอนนี้คิดถึงทุกคนในหมู่บ้านดอนมันมาก หากมีเวลาว่างจะเดินทางกลับไปอีกครั้ง” อดีตนักโทษหนุ่มสะท้อนอย่างภาคภูมิใจในชีวิตใหม่
ด้าน นายวงศวัฒน์ ปัญญาวุฒิวงศ์ พนักงานคุมประพฤติชำนาญการพิเศษ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่นำนักโทษมาร่วมบำบัดที่บ้านดอนมัน เล่าถึงที่มาว่า เดิมทีเป็นพนักงานคุมประพฤติชำนาญการพิเศษที่ จ.มหาสารคาม เป็นผู้เริ่มนำผู้กระทำความผิดไปบำบัด เพราะเห็นว่าบ้านดอนมันเริ่มต้นพัฒนาการที่ไม่มีอะไรเลย แต่สามารถพัฒนาให้หมู่บ้านเป็นชุมชนเข้มแข็ง
ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ จ.มหาสารคาม ทางสำนักงานคุมประพฤติได้ไปศึกษาดูงานที่บ้านดอนมัน ทำให้พบว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีการพัฒนาในเรื่องของวิถีชีวิต วิถีชุมชน และวิถีพุทธ จนเป็นชุมชนเข้มแข็ง จึงเล็งเห็นว่าสถานที่นี้สามารถบำบัดผู้ต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติดได้
“เมื่อผู้กระทำความผิดเข้ามาอยู่ในสังคม ซึ่งเหมือนครอบครัวใหม่ มีการฝากตัวเป็นลูกของกำนันและชาวบ้าน จากนั้นทุกคนในหมู่บ้านได้ช่วยกันสอน ทั้งเรื่องศีลธรรม ฝึกอาชีพให้ผู้บำบัด จนครบระยะเวลา 2 เดือน หลังจากการเข้าบำบัดพบว่า ผู้ที่เคยกระทำความผิดมีจิตใจเย็นกว่าเดิม รู้จักคิดวิเคราะห์ถึงสิ่งผิด ชอบ ชั่ว ดี”
“หัวใจความสำเร็จของบ้านดอนมัน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด คือกระบวนการทางสังคม การคาดหวังจากสังคม มีแบบอย่างที่ดีในหมู่บ้าน หลังจากบำบัดแล้ว ระยะเวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์ ผู้บำบัดอีกครั้ง ว่าจะหันไปยุ่งเกี่ยวอีกหรือไม่ แต่เท่าที่ทางหน่วยงานได้ติดตาม ยังไม่พบผู้กระทำความผิดคนไหนกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเลย” วงศวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ นางวิมนา เวทีกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 4 ร่วมบอกถึงสาเหตุที่เลือกบ้านดอนมัน เป็นแหล่งบำบัด ผู้กระทำความผิด ว่าเพราะเป็นสถานที่คล้ายกับภูมิลำเนาของผู้กระทำความผิด ไม่มีรั้วกั้นเขตแดนเหมือนผู้ต้องขัง หลังการบำบัดพบว่า ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนมาก อีกทั้งยังฝึกอาชีพให้ผู้บำบัดได้ความรู้ไปใช้จริงได้
“สิ่งแวดล้อมทั้งคนและสถานที่ ช่วยบำบัดจิตใจให้มีจิตใจที่ไม่แข็งกร้าว ทำให้เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน มีสติมากขึ้น เพราะการเข้ามาอยู่หมู่บ้านดอนมัน ในเวลา 2 เดือนนั้น ต้องอยู่แบบครอบครัว ไม่มีรั้วรอบขอบชิดเหมือนทัณฑสถาน เพราะไม่ได้กักขัง กล่าวคือใช้หมู่บ้านเป็นที่ขัดเกลาจิตใจ ได้อาชีพ แสดงให้เห็นว่าสังคมพร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้” นางวิมนา กล่าว
การให้โอกาสแก่ผู้ต้องขังเหล่านี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มให้ผู้เคยกระทำผิดได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง ก่อนออกสู่โลกภายนอก
อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่า แม้คนเหล่านี้เคยกระทำผิด แต่ถ้าสังคมให้โอกาส ทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีที่ยืนในสังคม ก็จะมีส่วนทำให้กลับตัวกลับใจ เป็นปุถุชนดำเนินชีวิตได้อย่างปกติในสังคมต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update : 20-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร