โหมโรง ยกระดับ “งานวิ่ง” ทั่วไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
นาทีนี้กิจกรรมงาน "วิ่ง" ถูกจัดขึ้นทุกหัวระแหง ตั้งแต่ย่านเมืองหลวง หัวเมืองหลัก ไปถึงระดับท้องถิ่น บางสัปดาห์รายการชนกันอีนุงตุงนัง เลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว
มองในด้านดีก็จะเห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่หันมาใส่ใจสุขภาพรักการออกกำลังกายมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มักจะได้ยินเสียงบ่นหรือเรื่องดราม่า จากบรรดานักวิ่งทั้งหลายที่อาจจะเจอกับ "เจ้าภาพ" ที่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ น้ำอาหารไม่พอบ้าง เส้นทางอันตรายบ้าง ไม่มีความปลอดภัยโน่นนี่ จึงเป็นสาเหตุให้มีความพยายามจะยกระดับการวิ่งทุกรายการให้ได้มาตรฐาน อาจจะมีการแบ่งเกรดลดหลั่นกันไป
ประเด็นน่าสนใจที่อยากจะหยิบมานำเสนอเกี่ยวกับโครงการนำร่อง "ก้าวสำคัญ…ยกระดับมาตรฐานงานวิ่งและนักวิ่งไทย" ซึ่งเป็นความร่วมมือของจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ, บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด ยูเมะพลัส และบริษัท มูฟ เอเชีย จำกัด
เริ่มด้วย การจัดประชุมวิ่งมาราธอนระดับโลกครั้งแรกในเอเชีย "โกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท 2019" เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ รร.เดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานี จ.เชียงราย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำด้านการวิ่งระดับโลกมามอบความรู้ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการจัดแข่งขันเพื่อรวบรวมเป็นมาตรฐาน "ไทยแลนด์ รันนิ่ง สแตนดาร์ด" สำหรับการจัดงานวิ่งของประเทศไทยต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น "จุดปล่อยตัวและการสตาร์ต : จัดการอย่างไรในมาตรฐานโลก" จากบอสตัน มาราธอน, "ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ความสำคัญของการวางแผนล่วงหน้า" จากชิคาโก มาราธอน, "ไขความสำเร็จปารีสมาราธอน การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนความรับผิดชอบต่อสังคม" จากปารีส มาราธอน, "โตเกียวมาราธอน เติบโตอย่างไรให้เป็น 1 ในผู้นำมาราธอนโลก" จากโตเกียว มาราธอน, การสัมมนา "มาตรฐานโลกกับการสร้างความพร้อมการจัดงานวิ่งในประเทศไทย" ฯลฯ เรียกว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้จัดฯ ตลอดจนนักวิ่ง ได้มีโอกาสได้รับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานวิ่งระดับโลกอย่างถ่องแท้
ต่อด้วยการประเดิมจัดวิ่งฮาล์ฟมาราธอนนานาชาติ ราย การ "ยูเมะพลัส เชียงราย 21.1" เพื่อแสดงให้เห็นถึงต้นแบบการจัดงานวิ่งในมาตรฐานระดับสากล ทุกขั้นตอนได้รับการการันตีและรับรองการจัดแข่งขันโดยสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ ออกสตาร์ตที่วัดร่องขุ่น-เข้าเส้นชัยที่สวนตุง และโคมนครเชียงราย แม้แต่การวัดระยะทางยังได้ "เดวิด แคตซ์" ผู้วัดเส้นทางศึกนิวยอร์ก มาราธอน รวมถึง โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น มาทำหน้าที่ในครั้งนี้ ขณะที่นักวิ่งกว่า 5,000 คน ยังได้ซึมซับความสวยงามของศิลปะและวัฒนธรรมบนดินแดนเหนือสุดแห่งแผ่นดินสยาม ขนาบข้างด้วยเสียงเชียร์จากคนท้องถิ่นอบอุ่นตลอดเส้นทาง
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า รายการวิ่งครั้งนี้ตั้งใจจะนำร่องให้เป็นสนามวิ่งที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานโลกมากที่สุด เพื่อเป็นต้นแบบรายการฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอนในเมืองไทย ส่วนการจัดประชุมโกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท 2019 ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันเต็มจำนวน จากนี้จะพยายามผลักดันให้เมืองไทยมีสนามวิ่งระดับโกลด์ ลาเบล ให้ได้
ฝั่ง ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สสส. สนับสนุนเรื่องการจัดงานวิ่งและการออกกำลังกายมาโดยตลอด จึงเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการจัดงานประชุมโกลบอล รันนิ่ง ซัมมิท อย่างเต็มที่ หากสามารถนำองค์ความรู้จากการประชุมมาสร้างเป็นมาตรฐาน "ไทยแลนด์ รันนิ่ง สแตนดาร์ด" มาใช้ประโยชน์ ก็เชื่อว่าจะช่วยยกระดับการจัดงานวิ่งในประเทศ ไทยและช่วยให้ประชาชนสนใจอยากจะมาวิ่งมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะต้องพัฒนาต่อยอดโครงการนี้ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
โครงการนำร่อง "ก้าวสำคัญ…ยกระดับมาตรฐานงานวิ่งและนักวิ่งไทย" เปรียบเสมือนการโหมโรง "ก้าว" ครั้งสำคัญ ในการขยับมาตรฐาน "งานวิ่งในเมืองไทย" ให้กลายเป็น "จุดหมายปลายทาง" ของนักวิ่งจากทั่วโลก