โลกสวย สร้างได้ แค่ไม่สร้างขยะอาหาร
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : สัมมนาการจัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิด วันที่ 18 ม.ค. 2567 รร.มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
เมื่อปัญหาขยะอาหาร กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มตระหนักและพยายามหาวิธีการแก้ไข ทำให้เกิดเทรนด์ Zero Food Waste หรือการทำให้เศษอาหารเหลือทิ้งมีปริมาณเป็นศูนย์ คือ เหลือทิ้งน้อยที่สุด รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการก่อขยะอาหาร
“จากข้อมูลด้านการจัดการขยะมูลฝอย พบว่า 38% ของขยะ เป็นอาหารที่ถูกเททิ้งรวมกับขยะทั่วไป ซึ่งมีแหล่งต้นทางขยะจากหลายแหล่ง อาทิ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงาน แหล่งที่กล่าวมาข้างต้นมักมีศูนย์อาหาร ซึ่งเป็นแหล่งก่อขยะอาหารที่สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยตรง”
น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในงานสัมมนาการจัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิด
เพื่อลดปัญหาขยะอาหารส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยต้องดำเนินการตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 12.3 ว่าด้วยการลดปริมาณขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งจากการค้าปลีกและผู้บริโภค รวมถึงจากกระบวนการเก็บเกี่ยวและการผลิตอาหารภายในปี 2573 ด้วย
เพื่อสร้างแนวทางจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมกับทุกภาคส่วน ทั้งศูนย์อาหาร ร้านอาหาร ผู้ผลิต และผู้บริโภค จึงเกิดการสานพลังความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดงานสัมมนาการจัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิด ณ รร.มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า “คนไทยก่อขยะอาหารและอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 10 ล้านตันต่อปี มีขยะอาหารถูกทิ้งจากหลายแหล่ง ถูกส่งไปกำจัดด้วยหลากหลายวิธี มีปริมาณที่มาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน
ในขณะที่ขยะอาหารบางส่วนไม่ได้มีการคัดแยกที่เหมาะสม ถูกทิ้งรวมไปกับขยะประเภทอื่น ๆ ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการคัดแยกขยะก่อนจะนำไปกำจัด ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะในเวลาต่อมา ทั้งการเทรวมขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค สร้างมลพิษทางกลิ่น
แม้กระทั่งการฝังกลบยังกระทบต่อคุณภาพดินและทำให้น้ำเน่าเสีย และการเผาขยะที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วย เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคที่จะตัวกระจายหรือพาหะนำเชื้อของสัตว์จากกองขยะไปสู่แหล่งน้ำดื่ม แหล่งการเกษตร และแหล่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นที่กลายเป็นมลพิษทางอากาศอีกด้วย
“ที่ผ่านมา สสส. ได้เร่งผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดแผนปฏิบัติการจัดการขยะอาหารของประเทศ สร้างกระบวนการขับเคลื่อน และสร้างส่วนร่วมด้านการจัดการปัญหาขยะจากต้นทาง เพื่อการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าวย้ำ
“หากแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ ปลายทางจะไม่ลำบาก ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการกินและซื้อเท่าที่กินอย่างพอดี ไม่ถูกจูงใจด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ ทั้งการลด แลก แจก แถมมากเกินไป นอกจากจะส่งผลดีในด้านการลดปริมาณขยะอาหารแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากมาย”
“การจัดการอาหารส่วนเกิน สสส.ดำเนินการสานพลังกับภาคีเครือข่ายและหาภาคีเครือข่ายเพิ่มเติม ในการนำอาหารส่วนเกินจากทางฝั่งผู้ผลิตที่พบว่ามีมากถึง 30% จากสายการผลิตทั่วประเทศ แต่ยังบริโภคได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพส่งต่อไปยังกลุ่มเปราะบางที่ต้องการ ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าวเสริม
ตอกย้ำถึงความร่วมมือด้านจัดการขยะอาหาร ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า บทบาทสำคัญในการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินของประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม สนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ด้วยระบบคัดแยกที่เอื้อต่อนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม
อีกทั้ง พัฒนาขยายผลรูปแบบที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายและแผน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสารที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวางสู่แนวปฏิบัติที่ดีจากศูนย์อาหารที่เป็นแหล่งกำเนิด และ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมลดการทำให้เกิดขยะจากอาหารส่วนเกินอีกด้วย
“โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ทั้งทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูล และผลักดันให้เกิดการจัดการขยะอาหารจากแหล่งอาหารอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.วิจารย์ กล่าว
ปิดท้ายจากวงเสวนา “กรณีป้องกัน ลด ใช้ และกำจัดขยะอาหาร” จาก ศูนย์อาหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์อาหาร บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด, สวนผักดาดฟ้า Bangkok Rooftop Farming และ เกษตรกรที่ใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร สรุปว่า…
“…ปัจจุบันทุกคนมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ในส่วนของการจัดการขยะอาหารนั้น หลายคนมีแนวคิดที่อยากจะทำ อยากให้ทุกคนและทุกภาคส่วนร่วมมือกันจัดการขยะอาหาร รวมถึงการจัดการขยะพลาสติก และการคัดแยกขยะ ก็จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้”
เพราะสิ่งแวดล้อมดีที่ยั่งยืน คือส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการสร้างสุขภาวะดี 4 มิติทั้ง กาย จิต ปัญญา สังคมได้ สสส. จึงมุ่งมั่นเดินหน้าร่วมนานาชาติกู้วิกฤติโลก ด้วยการลดขยะอาหารเพื่อให้เกิดการบริโภคอย่างพอเพียงด้วยทรัพยากรที่คุ้มค่า และโลกที่สดใสน่าอยู่ต่อไป