โลกจะไม่สดใส ถ้ายังอยู่ในสภาพสิงห์อมควัน

สร้างเครือข่ายหมอฟันเลิกบุหรี่

 

 

 

          เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สสส. จัดประชุมวิชาการทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2553 เพื่อสร้างความร่วมมือกลุ่มทันตแพทย์ให้ความรู้ประชาชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ และเพื่อสร้างเครือข่ายหมอฟันแนะเลิกบุหรี่ เตือนสิงห์อมควัน ให้ทราบว่าผู้สูบมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนไม่สูบถึง 7 เท่า เหตุเพราะ ควัน ความร้อนทำเนื้อเยื่อปากผิดปกติ

 

          จากการสอบถามผู้ที่มาร่วมประชุม ทุกคนต่างยอมรับกันว่าการสูบบุหรี่ทำให้ปากเหม็น ทำให้ฟันเหลือง และ ทุกคนมีแนวคิดเหมือนกันหมดว่า จะยอมเชื่อหมอทันที หากหมอแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่

 

          นับได้ว่าสิงห์อมควันพวกนี้ยังพอมีอนาคต เพราะยังมีความห่วงใยในสุขภาพของตนเอง และพร้อมที่จะแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งดี แต่ก็ยังมีบรรดาสิงห์อมควันอีกมากมาย (ที่ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม) ที่ยังหูบอด ตามัว หลงใหลอยู่กับการสูบบุหรี่

 

          ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพล) สำรวจประชาชนอายุ 12 60 ปี จำนวน 2,823 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 22 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม 2553 เรื่อง การรับรู้ของประชาชนต่อการช่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยพบทันตแพทย์ 73.3% เมื่อถามถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พบผู้ไม่เคยสูบบุหรี่ 65.6% เคยสูบแต่เลิกแล้ว 10.4% และผู้สูบบุหรี่ 24% กลุ่มตัวอย่างเกินกว่า 4 ใน 5 มีความเข้าใจถูกต้องว่าบุหรี่มีผลต่อสุขภาพเหงือกและฟัน รู้ว่าทำให้ปากเหม็น 95.5% รองลงมาคือ ฟันเหลือง เหงือกคล้ำ 94.9% เสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก 91.9% และสูญเสียฟัน 85.8%

 

          สำหรับโทษของควันพิษอันเกิดจากบุหรี่นั้น รศ.ทพญ.วรานันท์ บัวจีบ รองคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้รายละเอียดถึงโทษจากควันบุหรี่ดังนี้

 

          1. มีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากสูงกว่าคนปกติ 7 เท่า เพราะควันและความร้อนจากบุหรี่จะระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก ทำให้เพดานปากอักเสบและหนาตัว ในน้ำลายผู้สูบบุหรี่มีสารพิษก่อมะเร็งหลายชนิด จึงมีโอกาสพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อในปากหรือรอยโรคก่อนมะเร็งสูง

 

          2. สารทาร์จากบุหรี่ที่เหนียวจับบนผิวฟันทำให้ช่องปากสกปรก ทำความสะอาดยาก และทำให้มีกลิ่นปาก ผู้สูบบุหรี่จะมีน้ำลายลดลง ฟันจึงผุง่าย

 

          3. สารนิโคตินจากบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดเลี้ยงที่บริเวณเหงือกน้อยลง โรคเหงือกจึงลุกลามง่ายและอาจตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจส่งผลให้ฟันโยกคลอนและต้องสูญเสียฟันในที่สุด

 

          4. แผลถอนฟันของผู้สูบบุหรี่มักหายช้าและเบ้ากระดูกติดเชื้ออักเสบได้ง่าย

 

          5. การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งของทันตกรรมรากเทียม เพราะมีผลต่อความสำเร็จของการรักษา

 

          ทันตแพทย์ จึงเตือนผู้ที่อยากมีฟันสะอาด เหงือกแข็งแรง ควรห่างไกลจากการบริโภคยาสูบทุกรูปแบบ

 

 

 

          ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานผลการตรวจคัดกรองโรคก่อมะเร็งในช่องปากในโรงพยาบาลนำร่อง 4 จังหวัด คือ กระบี่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และสมุทรสาคร มีผู้สูบบุหรี่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน และผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 1,683 พบเป็นโรคมะเร็งช่องปาก 11 คน และพบผู้ที่มีรอยโรคก่อนมะเร็งจำนวน 33 คน ถือเป็นสถิติที่สูงมาก ทั้งที่ข้อมูลของของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่าอัตราผู้ป่วยมะเร็งช่องปากของคนไทยอยู่ที่ 6 คนต่อแสนประชากร ดังนั้นการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในกลุ่มเสี่ยงอย่างจริงจังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากพบตั้งแต่เริ่มแรก จะเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 70% และยังลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐนับแสนบาทต่อคนด้วย

 

          ใครที่ดวงตาเห็นธรรม และอยากจะเลิกสูบบุหรี่ เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว หรือเพื่อคนที่เรารัก โอกาสที่จะเลิกอย่างถาวรยังมี และเปิดกว้างให้บรรดาสิงห์อมควัน หลุดพ้นจากขุมนรกได้ จากการแนะนำของ ทพ.ธีระศักดิ์ ชาวสวนเจริญ ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร บอกว่า ผู้ที่สนใจเลิกบุหรี่สามารถปรึกษาได้ที่คลินิกทันตกรรมของศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัด กทม. 70 แห่งทั่ว กทม. และคลินิกทันตกรรมในโรงพยาบาล 8 แห่ง คือ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.สิรินธร รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพ รพ.เวชการุณรัศมิ์ และรพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้มาใช้บริการขอคำแนะนำของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. แล้วกว่า 7,000 คน และสามารถเลิกบุหรี่ได้ 115 คน ทั้งนี้ คลินิกทันตกรรมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องการเลิกบุหรี่

 

          รู้กันจะจะอย่างนี้ ใครยังอยากจะสูบเพื่อทำลายสุขภาพตัวเอง ทำลายบรรยากาศในครอบครัว ก็ปล่อยให้ โง่งมงายต่อไปเถิด อีกไม่กี่ปีหรอก คนพวกนี้ก็ตายไปเองนั่นแหละ

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update : 22-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ