โรงเรียนอ่านสร้างสุข : โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน
จากการจัดลำดับด้านพฤติกรรมการอ่าน พบว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 5 เล่ม ขณะที่คนเวียดนามอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม คนสิงคโปร์อ่านหนังสือปีละ 45 เล่ม และคนมาเลเซียอ่านหนังสือปีละ 40 เล่ม ส่งผลให้จากการทดสอบทางPISA ในปี 2552 พบว่า เด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ซึ่งความสามารถด้านการอ่านของเด็กไทย อยู่ในอันดับที่ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศ
เพราะการอ่าน คือ ประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้ เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 26 ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ หัวข้อ “อ่านโลก อ่านชีวิต” จึงได้หยิบยก โรงเรียนอ่านสร้างสุข : โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน และดอนแก้วตำบลนักอ่านเป็นกรณีศึกษาถึงปัจจัยความสำเร็จ เพื่อนำสู่การขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ
โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ จากอดีตเคยประสบปัญหาการอ่านของเด็กในโรงเรียน แต่ปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบส่งเสริมการอ่านโดยถ่ายทอดความรู้และเทคนิควิธีการให้แก่โรงเรียนอื่นๆ
จากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน และ 5 หน่วยงานหลักประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ(สพฐ.) สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น(สถ.)สำนักการศึกษากรุงเทพมหานครและแผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยจัดทำแผนพัฒนา กำหนดนโยบาย ร่วมกันวางแผนกิจกรรม แต่งตั้งคณะกรรมการผู้รับผิดชอบและเชิญวิทยากรมาให้ความรู้
ประทิน พรหมคิรี ผู้อำนวยการโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน เล่าว่า เรามาคุยกันในภาพรวมของสถานศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาทั้งระบบ คือต้องให้ครูทั้งหมดมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นครูภาษาไทย หรือครูบรรณารักษ์เท่านั้น ไม่เช่นนั้นมันจะแก้ไม่ได้ กระบวนของโรงเรียนจึงเริ่มตั้งแต่ประเมินและคัดกรองการอ่านของนักเรียนในโรงเรียน จากนั้นครูแต่ละท่านจะออกแบบวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเด็กต้องมีการพัฒนาด้านการอ่านที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับโครงการห้องสมุด ที่มีหลากหลายกิจกรรม รวมถึงกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชนอย่างครอบครัวรักการอ่าน โดยให้การอ่านหนังสือเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน แบ่งออกเป็น 3 โครงการคือ โครงการโรงเรียนรักการอ่าน โครงการพัฒนาห้องสมุด และโครงการส่งเสริมการอ่านจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในแต่ละโครงการจะมีกิจกรรมรองรับทุกโครงการ และสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งภายในโรงเรียนและชุมชน
‘ห้องสมุดเคลื่อนที่’ ตัวอย่างกิจกรรมเด่นที่ดำเนินการโดยยุวทูตนำหนังสือใส่ตะกร้าและเสื่อไปวางตามจุดต่างๆในโรงเรียน เช่น สวนการเรียนรู้ โรงยิมอเนกประสงค์ ในช่วงเช้าก่อนเข้าแถวทำกิจกรรม ไม่มีการบังคับให้อ่านใครจะอ่านหนังสืออะไรก็ได้ ตามความสนใจ ผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลานสามารถนั่งอ่านกับลูกได้ กิจกรรมนี้ได้ขยายไปสู่ชุมชนใกล้เคียงเช่นชุมชนกมาลุลอิสลาม ชุมชนโซ๊ะมันร่วมพัฒนาชุมชนอิดฮาร์ดอูลูมุดดีนและชุมชนเกาะใหญ่พัฒนา
‘กิจกรรมครอบครัวรักการอ่าน’ เป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนได้เป็นอย่างดี มีการประชาสัมพันธ์รับสมัครครอบครัวรักการอ่าน มีการจัดมุมรักการอ่านที่บ้านอ่านหนังสือกันทั้งครอบครัวมีการประเมินผลโดยการเยี่ยมบ้านกิจกรรมนี้มีรางวัลเกียรติบัตรและเงินรางวัล จะรับในงานประจำปีของโรงเรียนซึ่งจะจัดในเดือนกุมาพันธ์ของทุกปี ได้รับความชื่นชมจากผู้มาร่วมงานเป็นอย่างดี
ผลของการส่งเสริมการอ่านสร้างสุข จากความร่วมมือของโรงเรียน-ครอบครัว-ชุมชน ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดโรงเรียนและยุวทูตโครงการอ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษา ประเภทสถานศึกษา ปีการศึกษา 2555 และรางวัลโรงเรียนรักการอ่านยอดเยี่ยมในปีการศึกษา 2552 และนักเรียนมีพัฒนาการอ่านที่ดีขึ้นจาการประเมินการอ่านทั้งโรงเรียน 3 ครั้ง ปรากฏว่าอัตราส่วนนักเรียนอ่านคล่องเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่านไม่คล่องและอ่านไม่ออกลดลง ผลการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านจึงช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการอ่านที่ดีขึ้น
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)