โรงอาหาร ‘อ่อนหวาน’ จัดการสิ่งแวดล้อมดี

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า 


โรงอาหาร 'อ่อนหวาน' จัดการสิ่งแวดล้อมดี thaihealth


ทราบกันโดยทั่วไปว่าการบริโภคน้ำตาลเกินความเหมาะสมและการทานหวานเป็นประจำ จะส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคฟันผุ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้เมื่อเป็นแล้วรักษาได้ยาก เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก


แม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมามากมายเพื่อให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลง แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีและเห็นเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน คือ ต้องเริ่มที่ “อนาคตของชาติ”


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันรณรงค์ลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของ “เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และที่จังหวัดราชบุรี ถือเป็นจังหวัดต้นแบบของ “เด็กไทยไม่กินหวาน” ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาล ลดความหวานในรั้วโรงเรียน


ทพญ.มัณฑนา ฉวรรณกุล หัวหน้ากลุ่มงาน ทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงแนวทางการลดการบริโภคน้ำตาลในพื้นที่ จ.ราชบุรี ว่า หลังจากเฝ้าระวังปัญหาเรื่องฟันผุในโรงเรียนมาระยะหนึ่ง ก็พบว่าปัญหายังไม่ลดลง และยังพบด้วยว่าเด็กเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากการกินน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ จึงคิดว่าการรณรงค์ปัญหาฟันผุอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จะต้องรณรงค์การไม่กินหวานเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเป็นผลเกี่ยวเนื่องกัน


ทางทีมทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี จึงสนับสนุนให้โรงเรียนแต่ละแห่งเป็นที่โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและงดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ ยกระดับสู่การเป็น “โรงเรียนอ่อนหวาน” แต่ในกระบวนการนี้อาจจะจับต้องได้ยาก เพราะยังมีตัวแปรอื่นๆ เช่น ร้านค้า รถเข็นขายของหน้าเรียน เป็นต้น ดังนั้นจึงหันมาใส่ใจในสิ่งที่โรงเรียนสามารถควบคุมได้ คือ โรงอาหาร


ที่โรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม อ.ดำเนินสะดวกจ.ราชบุรี สังกัดสำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่ประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา เคยประสบปัญหานักเรียนมีภาวะอ้วนมากที่สุดใน อ.ดำเนินสะดวก มากกว่า 100 คน จากจำนวนนักเรียน 836 คน จึงเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนอ่อนหวาน” ซึ่งมีการจัดการสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เอื้อต่อการลดน้ำตาลได้อย่างน่าสนใจและได้ผล


นายบุญฤทธิ์ เกียรติมงคล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม กล่าวถึงการแก้ปัญหาเด็กอ้วนในโรงเรียนว่า อย่างแรก คือการปฏิเสธน้ำอัดลมและผลประโยชน์จากร้านค้าต่างๆ ที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อขายของ เพราะถ้าอนุญาตการจัดการยิ่งเป็นไปได้ยาก ทางโรงเรียนจึงยอมเสียผลประโยชน์ ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับสิ่งที่เด็กๆ จะได้


ต่อมา คือการจัดการโรงอาหาร เพราะนักเรียนโรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม เคยทานรสจัดหวาน มัน เค็ม จึงมีการปรับรสชาติอาหารให้อ่อนลง ไม่ให้วางเครื่องปรุงไว้บนโต๊ะ โดยเฉพาะน้ำตาล ถ้าอยากกินขนม ก็มีขนมไทยรสหวานน้อยจำหน่ายในราคาถูก มีผลไม้ จะไม่มีขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลมอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เป็นโรงอาหารอ่อนหวาน


“แต่ก็มีปัญหาว่าเด็กปฏิเสธอาหารกลางวัน ทานไม่อร่อย กินไม่อิ่ม ก็ไปบอกผู้ปกครอง ว่าอาหารที่โรงเรียนไม่อร่อย เขาก็มาฟ้องและไม่พอใจ บางรายถึงกับห่อข้าวจากบ้านมาให้ลูกทาน เราก็ต้องมาให้ความรู้กับเด็กว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร และต้องเชิญผู้ปกครองมาทำความเข้าใจร่วมกัน เขาก็ค่อยๆ เข้าใจ” ผอ.บุญฤทธิ์ กล่าว


หลังจากจัดการกับโรงอาหารแล้ว ทางโรงเรียนยังได้ส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อให้ได้เผาผลาญพลังงาน ลดพุง ลดโรค ร่างกายแข็งแรง ช่วยส่งผลดีต่อการเรียนด้วย โดยเริ่มจากคัดเลือกเด็กอ้วนซึ่งมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาออกกำลังกายด้วยการเต้นฮูลาฮูป ทุกวัน แล้วจดบันทึกน้ำหนัก จนครบ 3 เดือน ก็พบว่าทุกคนน้ำหนักตัวลดลงมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ก็ถือว่าลดลงทุกราย


ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมออกกำลังกายหน้าเสาธงทุกเช้าก่อนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเต้นประกอบเพลง หรือการเข้าฐานเครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งเด็กทุกคนจะได้ฝึกการทรงตัวทั้งกระโดดมุด ปีน ป่าย พัฒนากล้ามเนื้อและพัฒนาสมองเมื่อได้ออกกำลังกายสนุก ร่างกายก็จะกระปรี้กระเปร่าสมองโปร่ง และมีความสุข เขาก็จะเรียนอย่างมีความสุข ผลการเรียนก็ออกมาดี ผู้ปกครองก็มีความสุขและให้การยอมรับโรงเรียนมากขึ้น


ส่วนที่โรงเรียนแย้มวิทยาการ สถานศึกษาเอกชนในพื้นที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีนโยบายการลดการบริโภคน้ำตาลอย่างจริงจังเช่นกัน โดยจัดทำ “โรงอาหารอ่อนหวาน” เพื่อให้เด็กๆได้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการพร้อมทั้งสร้างเยาวชนแกนนำ “ยุวทูตอ่อนหวาน” มาช่วยขยายความรู้


พญ.กมลทิพย์ ภู่สว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนแย้มวิทยาการ กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีนโยบายอาหารกลางวันต้องสะอาด มีคุณภาพรสชาติไม่หวาน มัน เค็ม ของหวานที่มีให้จะเป็นขนมไทยหรือผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากนี้เรายังมีการประเมินคุณภาพอาหารทุกสัปดาห์ สิ่งที่เลือกมาให้รับประทานในโรงอาหาร ต้องเป็นสิ่งมีประโยชน์ เราสอนเด็กให้รู้จักการเลือกว่าอะไรควรทานและอะไรไม่ควรทาน


ขณะเดียวกันได้สร้าง “ยุวทูตอ่อนหวาน” ซึ่งเป็นการคัดเลือกเด็กจำนวน 10 คน มาอบรมให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหาร รวมไปถึงการอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ โดยทุกคนจะต้องทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้นี้ไปยังพี่ๆ น้องๆ ในโรงเรียน รวมถึงที่บ้านด้วย


ทพญ.มัณฑนา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานในพื้นที่ จ.ราชบุรี สรุปผลของการขับเคลื่อน “โรงอาหารอ่อนหวาน” ว่า ปัจจุบันในจังหวัดราชุบรีมีโรงเรียนที่สามารถจัดทำโรงอาหารอ่อนหวานได้แล้ว 200 แห่ง จากทั้งหมด 400 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเด็กมีฟันผุลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดขณะเดียวกันจำนวนเด็กอ้วนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งนี้การขับเคลื่อนการลดการบริโภคน้ำตาลให้ได้ผล จะต้องมาจากนโยบายต่อเนื่องของผู้บริหาร ความร่วมมือผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เข้าไปหนุนเสริม จึงจะทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ


“โรงอาหารอ่อนหวาน” จุดเริ่มต้นเล็กๆที่ทำกับเด็กตัวเล็กๆ นี้ จึงเป็นหนึ่งในแนวทางลดการบริโภคน้ำตาลในสังคมไทยได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ