‘โรงพักจำลอง’ ต้นแบบ แก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟนเพจโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 48 จังหวัดจันทบุรี


'โรงพักจำลอง' ต้นแบบ แก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน thaihealth


'โรงพักจำลอง' ต้นแบบ แก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน


โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 48 จ.จันทุบรี (รปค.) ลำดับที่ 48 จาก 51 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงเรียนประจำเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนในความรับผิดชอบ 622 ราย นักเรียนทุกคนจะต้องกิน-นอนอยู่ภายในโรงเรียนตลอดทั้งปีการศึกษา และแต่ละคน ต่างที่มาพื้นฐานครอบครัว สังคม นิสัยไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่รวมกันจึงเป็นปัญหา บางคนมาจากครอบครัวฐานะยากจน บางคนเป็นชนเผ่ามาจากดอยสูง บางคนกำพร้าเร่ร่อน ขายแรงงาน หรือเสี่ยงยาเสพติดและต้องถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ภายในรั้วโรงเรียน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่และหลังโรงเรียนอยู่ติดป่าเขา ความอัดอั้นและสภาพแวดล้อมนี้เอง ทำให้เอื้อต่อการลักลอบหนีออกนอกโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีเหตุเกเรทะเลาะวิวาท ลักเล็กขโมยน้อย


"เด็กหนีออกไปนอกโรงเรียนบ่อย โดดเรียน ขโมยของ สร้างปัญหาให้เพื่อนบ้านตำรวจก็ติดตามนำเด็กมาส่งให้เรา" นายโอภาวิทย์ จั่นพา ครูโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 48 ให้รายละเอียดว่า เมื่อสถานการณ์ปัญหาเป็นแบบนี้ ทางโรงเรียนจึงร่วมมือกับสถานีตำรวจเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรีและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการ 1 โรงพัก1 โรงเรียน และจัดตั้งสถานีตำรวจจำลองโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหา ป้องกัน และส่งเสริมพฤติกรรมนักเรียน ขณะเดียวกันยังช่วยเป็นหูเป็นตาแทนคุณครู


'โรงพักจำลอง' ต้นแบบ แก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน thaihealth


ครูโอภาวิทย์ กล่าวว่า เด็กนักเรียนแกนนำที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับการฝึกจริง ทำงานจริง ไม่แพ้ตำรวจตัวจริง โดยใช้ส่วนหนึ่งของอาคารเรียนหลังเก่าหน้าเสาธงใช้เป็นสถานีตำรวจจำลองโรงเรียน การทำงานทุกอย่างลอกแบบมาจากสถานีตำรวจจริง ทั้งการฝึกออกกำลังกายยามเช้า อบรมระเบียบวินัยในตอนเย็นและความสามัคคีหมู่คณะในตอนเย็น มีโครงสร้าง ได้แก่ สืบสวน สอบสวน  ปราบปรามอำนวยการ และจราจร มีผู้กำกับ มีหัวหน้าชุดทั้ง 5 สายงาน ทุกขั้นตอนการทำงานเสมือนตำรวจจริง โดยมีครูประจำชั้นเป็นอัยการ และครูฝ่ายปกครองหรือผู้อำนวยการโรงเรียนจะทำหน้าที่เป็นศาลหากมีเหตุต้องสงสัยต้องมีการขอหมายตรวจค้น เมื่อจับกุมแล้วก็จะมีการสอบสวนและลงบันทึกสำนวนแล้วส่งให้พนักงานอัยการ จากนั้นส่งฟ้องให้ศาลตัดสินความผิดตามกฎหมายซึ่งคือ กฎระเบียบของโรงเรียน เช่น หักคะแนน เป็นต้น


"สิ่งที่ได้จากโครงการสถานีตำรวจจำลอง ช่วยสร้างความมีวินัยให้กับเด็กเพราะเป็นสิ่งความมีวินัยสำคัญ การที่จะเรียนหนังสือ การที่จะทำหน้าที่ มันจะบกพร่องไปหมดเลยหากไม่มีวินัยในตนเองซึ่งพอเด็กมีวินัยในตัวเอง เคารพตัวเอง เคารพคนอื่นเขาก็จะทำกิจกรรมอื่นๆ และอยู่ภายใต้กฎของโรงเรียนได้ และการที่เด็ก อยู่ในสังคมค่อนข้างจะปิดแบบนี้ การสร้างสถานการณ์ในการดำรงชีวิตให้เขารู้ เมื่อออกไปนอกโรงเรียแล้ว เขาจะปรับตัวอยู่กับสังคมภายนอกได้ เด็กเราไม่ใช่เด็กปัญญาเลิศ เรารับจากเด็กที่มีปัญหาแล้วทำยังไงให้ปัญาหมดไป แล้วเขาออกไปอยู่ได้ในสังคม ใช้ชีวิตได้อย่ามีความสุขในสังคมภายนอก นั่นคือความภาคภูมิใจของเรา" ครูโอภาวิทย์  กล่าว


'โรงพักจำลอง' ต้นแบบ แก้ปัญหาในรั้วโรงเรียน thaihealth


ด้าน พ.ต.อ.คณกร อัศวเมธี ผกก.สภ.เขาคิชฌกูฏ กล่าวว่า ปัญหาที่พบในโรงเรียนมีหลักๆ คือ การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง การลักเล็กขโมยน้อย บุหรี่ และชู้สาว เมื่อมีสถานีตำรวจจำลองโรงเรียนก็จะช่วยป้องกันและแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับกฎ เพราะกฎของโรงเรียนคือกฎหมาย ไม่มีเรื่องเหลื่อมล้ำ หรืออย่างน้อยเด็กนักเรียนตำรวจมีวินัยมากขึ้น เพราะคัดเลือกเด็กเกเรให้มาทำหน้าที่นี้ เพราะวิธีการปราบปรามที่ดีที่สุด คือเอามาเป็นพวกจัดให้มีหน้าที่มีความรับผิดชอบ เพราะเชื่อว่าทุกคนจะดีได้หากมีความรับผิดชอบ จะรู้สถานะตัวเองว่าต้องทำตัวและวางตัวอย่างไร


ผกก.สภ.เขาคิชฌกูฏ ยังเชื่อด้วยว่าทั้งหมดนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเกเรเข้าสู่กระบวนการ ได้มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เพราะทุกคนต้องการโอกาส เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ต่อไปก็จะเป็นคนให้โอกาสคนอื่นเหมือนที่เคยได้รับ นอกจากนี้สถานีตำรวจจำลองในโรงเรียนยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์งานของตำรวจ ลดความกลัวของประชาชนที่มีต่อตำรวจอีกด้วย


ขณะที่ นายรุ่งโรจน์ รอดคง หรือน้องเฟิร์ส นักเรียนชั้นมีธยมศึกษาที่ 4 ซึ่งจากเด็กที่เกเร โดดเรียนบ่อย เมื่อมาเป็นตำรวจของสถานีตำรวจโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ก็เปลี่ยนไป ซึ่งครูหลายคนก็บอกว่า มีระเบียบวินัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน


น้องเฟิร์ส บอกว่า สาเหตุที่เข้ามาทำงานตรงนี้ เพราะเห็นว่าทางโรงเรียนเปิดรับสมัครคนอยู่ ประกอบกับอนาคตอยากเป็นตำรวจ ก็เลยลองมาทำดู พอเข้ามาแล้วก็ได้ฝึกจริงๆ ตื่นตั้งแต่ ตี 5 มาวิ่งออกกำลังกายก่อนแยกย้ายไปเรียนประจำวัน พอถึง 5 โมงเย็นก็ต้องมารวมตัวฝึกกันอีก และแยกการอบรมตามสายงานการรับผิดชอบของตนเอง ส่วนตนอยู่ฝ่ายตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกและจัดการการจราจรภายในโรงเรียน  มีสมาชิกด้วยกัน 5 คนตอนนี้มีระเบียบวินัยมากขึ้น เพราะต้องทำตัวให้เหมาะสม


สถานีตำรวจจำลองในโรงเรียน จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางให้โรงเรียนอีกหลายๆ แห่งได้นำไปทดลองใช้ เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนได้ ซึ่งที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงมาแล้ว

Shares:
QR Code :
QR Code