โรงพยาบาลต้นแบบลดเค็ม

โรงพยาบาลต้นแบบลดเค็ม thaihealth


"ประชากรไทยมี 64 ล้านคน ป่วยเป็นโรคไต 7 ล้านคน รามาฯ ต้องล้างไตกัน 80 รอบต่อวัน ต่อคนใช้เวลาล้างไต 4 ชม. 40 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้โรงพยาบาลรามาฯ ป่วยเป็นมะเร็ง โรงพยาบาลมีเตียงอยู่ 1,300 เตียง ผู้ป่วยมะเร็งใช้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุ มาเตียงไม่พอ หมอ พยาบาล ถูกใช้ไปกับการรักษาคนป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง"


ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล บอกเล่าในวันแถลงข่าว โรงพยาบาลต้นแบบลดเค็ม เพื่อจะสื่อสารว่าวันนี้คนป่วยที่ล้นโรงพยาบาลไม่ได้เกิดจากโรคติดต่อแล้ว แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคทั้งสิ้น โดยเฉพาะการกินเค็มเกินพอดีก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ผลจากบริโภคอาหารรสจัดของคนไทยทำให้มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 11 ล้านคน


หน่วยโรคไต รพ.รามาธิบดี ได้เห็นโทษภัยของการกินเค็ม จึงได้ออกมาทำงานในเชิงรุก ด้วยการทำงานรณรงค์ให้คนไข้และญาติผู้ป่วยเข้าใจเรื่องการกินเค็มที่ก่อให้เกิดโรค ด้วยการอบรม สาธิตคิดค้นเมนูอาหารไทยสูตรลดเค็ม พร้อมทั้งอบรมผู้ประกอบการร้านอาหารในโรงพยาบาล


พญ.อุมาพร สุทัศน์วราวุฒิ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยและกรรมการแผนอาหาร สสส. กล่าวว่าโรงพยาบาลต้นแบบลดเค็ม thaihealth ตั้งเป้าภายใน 1 ปี รพ.รามาฯจะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบลดเค็ม โดยเริ่มให้ความรู้กับผู้ปรุงอาหารในโรงอาหาร ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าในแต่ละวันร่างกายควรรับประทานเกลือไม่เกิน 5 กรัม (เกลือ 1 ช้อนชา) หรือได้รับโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่คนไทยทุกภาคเฉลี่ยรับประทานเกลือที่มาในอาหารรสเค็มต่าง ๆ วันละ 10.9 กรัมต่อวัน


อาหารไทยมีเครื่องปรุงรสมากมายที่ให้ความเค็มไม่ใช่เฉพาะเกลือ ยังมีซีอิ๊วขาว น้ำปลา ซอสหอยนางรม (1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 15 กรัม)ปริมาณโซเดียมเหล่านี้มีนับพันโดยเฉพาะน้ำปลามีถึง 1,160-1,540 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรมในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 370-490 มิลิกรัม รวมทั้งกะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,167-1,430 กรัม ส่วนผงชูรสที่ไม่มีรสเค็มใน 1 ช้อนชามีปริมาณโซเดียม 492-610 มิลลิกรัม และอาหารยอดฮิต บะหมี่สำเร็จรูป 1 ซอง (ขนาด 60 กรัม) มีปริมาณโซเดียม 1,120-2,000 มิลลิกรัม นั่นหมายความว่าใน 1 วัน เมื่อกินบะหมี่ 1 ซองร่างกายจะเหลือโควตารับโซเดียมอีกครึ่งหนึ่งเท่านั้น กับข้าวถุง อาทิ ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง มีโซเดียมเฉลี่ย 815-3,527 มิลลิกรัม ส่วนอาหารจานเดียวมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อจาน อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ


กินเค็ม (โซเดียมสูง) มากเกินไป ส่งผลให้เกิดการคั่งของเหลวในหลอดเลือด ทำให้แรงดันในผนังหลอดเลือดสูง ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา และเมื่อความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต


นอกจากนี้ยังพบว่า การรับประทานเค็มยังทำให้ติดหวานตามไปด้วยโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่รับประทานอาหารเค็ม อาหารจังก์ฟู้ดต่าง ๆ จึงรับประทานน้ำอัดลมและ เครื่องดื่มที่มีรสหวานตามไปด้วย ก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมา อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูงอีกได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มโรงพยาบาลต้นแบบลดเค็ม thaihealthแอลกอฮอล์ ความอ้วน


วิธีที่ไม่ให้ติดเค็มนั้น พญ.อุมาพร บอกว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยทารก หลัง 6 เดือน วัยที่ เด็กสามารถรับอาหารได้หลังได้รับนมแม่มา อย่างเดียวแล้ว ควรปรุงอาหารที่ได้จากรสธรรมชาติของอาหารให้มากที่สุดงดการปรุงเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่นเดียวกับการเลือกดื่มนมต้องงดให้นมรสหวานกับเด็ก ไม่เช่นนั้นเด็กจะติดรสหวาน ส่วนเด็กโตแล้วที่ติดเค็มไปแล้วพ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกกินอาหารรสจืดโดยลดความเค็มลง 10- 20% ซึ่งเด็กจะไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนไปของรสชาติ


ธัญวรินทร์ ตั้งเสริมวงศ์ หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกถึงทางเลือกลดเค็มว่า อาหารไทยประกอบด้วยสมุนไพรอยู่แล้ว อาหารอร่อยได้โดยเติมเกลือน้ำปลาให้น้อยลง แต่ให้ดึงเอารสชาติของพืชผักที่มีรสออกมาให้เด่น เช่น เพิ่มพริกไทยหรือเพิ่มรสเปรี้ยวจากมะนาว ทำให้อาหารยังคงรสเข้มข้นได้ อาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด หวานจัด ยิ่งต้องใส่เครื่องปรุงรสเค็มและผงชูรสมากขึ้นเพื่อให้อาหารครบรส สำหรับคนที่ชอบรสจัดจ้าน วิธีหยุดการเสพติดลดเค็มให้ลองรับประทานอาหารรสจืดสลับกันไปในที่สุดลิ้นจะเคยชินอาหารรสจืดไปเอง


"โซเดียมยังมีอยู่ในผงปรุงรส ซุปก้อน ในผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง รวมทั้งไข่เค็ม อาหารแปรรูปต่าง ๆ ยิ่งใส่โซเดียมสูงเพราะจะได้เก็บได้นานทำให้สารกันบูดน้อยลง นอกจากนี้หากรับประทานอาหารประเภทน้ำซุป เช่น ก๋วยเตี๋ยว แกงต่าง ๆ ควรรับประทานน้ำแต่น้อย เพราะมีโซเดียมอยู่มาก แต่เราไม่รู้สึกว่าเค็มเพราะน้ำที่ใส่ลงไปเจือจาง"


วัตถุดิบของอาหารล้วนมาจากธรรมชาตินั้นดีงามอยู่แล้ว…การปรุงแต่งมากไปกลายเป็นภัยต่อสุขภาพ


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code