‘โรคเด็กเตี้ย’ ภาวะซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์ 


'โรคเด็กเตี้ย' ภาวะซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง thaihealth


แฟ้มภาพ


ความสูงนับเป็นค่านิยมในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ให้ค่าความสวยความหล่อจากส่วนสูงและน้ำหนัก จนหลงลืมไปว่า "ความเตี้ย" ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักโดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกก่อนวัยหนุ่มสาว เพราะส่วนสูงของพวกเขาอาจเป็นสัญญาณของ "โรคเด็กเตี้ยผิดปกติ"


ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อเด็ก (pediatric endocrinologist) กล่าวว่า เด็กเตี้ยเป็นภาวะหรืออาการแสดงที่ทำให้เห็นว่าเด็กคนนั้นตัวเล็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเตี้ยมีหลายประการทั้งจากพันธุกรรมและจากโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone)


ฮอร์โมนเจริญเติบโต เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง หากต่อมใต้สมองไม่ผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตก็จะทำให้ระดับการเจริญเติบโตของเด็กต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สาเหตุที่ทำให้ต่อมนี้ทำงานผิดปกติอาจเป็นพันธุกรรมบางอย่าง หรือมีก้อนเนื้อไปกดทับ จึงทำให้ต่อมใต้สมองไม่สามารถทำงานได้


"ผู้ปกครองอาจจะสังเกตด้วยการเทียบความสูงของลูกกับเพื่อนในชั้นเดียวกันว่าตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ หรือไม่ หรือสังเกตได้จากอาการบางอย่าง เช่น ถ้ามีอาการที่สัมพันธ์กับก้อนที่ไปกดต่อมใต้สมองก็จะมีอาการของภาวะมีก้อนในเนื้อสมอง เช่น ปวดหัว อาเจียน หรือบางคนถ้าเป็นตั้งแต่กำเนิดก็จะมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีอาการสายตาผิดปกติร่วมด้วย"


อย่างไรก็ตาม ความเตี้ยมักเกี่ยวข้องกับ 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ หนึ่ง ภาวะเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพ บางรายอาจมีเพียงสาเหตุเดียว แต่บางรายอาจมีหลายสาเหตุรวมกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของร่างกายเป็นผลรวมของปัจจัยต่างๆ (Integrated Effects) ได้แก่ พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมนเจริญเติบโต สุขภาพกาย สุขภาพใจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นความผิดปกติหรือความไม่สมดุลของปัจจัยดังกล่าวจะทำให้การเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพของพันธุกรรม


สอง ภาวะเตี้ยที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเตี้ยตามพันธุกรรม จะพบได้บ่อย 2 ชนิด คือ ภาวะเป็นหนุ่มสาวช้าโดยที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว และมักจะมีประวัติครอบครัวว่าบิดาหรือมารดาเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ หรือมารดามีประจำเดือนครั้งแรกช้า (อายุ 14-18 ปี) หรือบิดาเมื่อเป็นเด็กมักตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ เริ่มโตเร็วเมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย และมีความสูงสุดท้ายปกติ


รวมถึงภาวะเตี้ยตามพันธุกรรม คือ มีพ่อหรือแม่เตี้ย หรือหากเตี้ยทั้งพ่อและแม่ รวมทั้งปู่ย่าตายาย ก็จะชัดเจนมากขึ้นว่าเตี้ยจากพันธุกรรม แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด โดยดูจากสมุดสุขภาพประจำปีของเด็ก


นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวต่อว่า เด็กที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเติบโตจะสังเกตเห็นได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ปกครองที่พาลูกมาพบแพทย์จะอยู่ในช่วงวัยประถมศึกษา รวมถึงความสูงของเด็กที่มีภาวะดังกล่าวก็จะไม่เท่ากัน เช่น บางรายอายุ 8 ขวบ มีความสูงเพียง 75 ซม. จะนับว่าเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงค่อนข้างมาก ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตที่ต่อมใต้สมองผลิตออกมา หากผลิตไม่ได้เลย หรือไม่มีฮอร์โมนเจริญเติบโตเลย ก็จะทำให้เด็กตัวเล็กแบบสังเกตเห็นได้ชัด


"เด็กที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเติบโตจะเตี้ย แต่จะไม่เตี้ยเหมือนเด็กขาดอาหาร เพราะเด็กที่กินไม่ดีมักจะผอมแห้งตัวเตี้ย แต่เด็กกลุ่มนี้จะตัวเตี้ยแล้วดูจ้ำม่ำ เพราะพวกเขาได้รับอาหารที่ดีแต่ไม่ยอมโต" นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม


สำหรับเกณฑ์ความสูงของเด็กนั้น ให้ดูได้จากการเปรียบเทียบกับกราฟมาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือผู้ปกครองควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด หากพบว่าบุตรหลานมีการเจริญเติบโตเบี่ยงเบนไปจากเส้นกราฟการเจริญเติบโตที่ปกติ ควรพาบุตรหลานไปรับคำปรึกษาจากกุมารแพทย์ก่อน เมื่อพาเด็กที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคเด็กเตี้ยผิดปกติไปพบกุมารแพทย์ จะมีการประเมินและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากพบความผิดปกติหรือสงสัยจะส่งต่อไปให้กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติต่อไป และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ


ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตจะมีการวินิจฉัยผ่านกระบวนการทดสอบทางฮอร์โมนโดยการกระตุ้นฮอร์โมนเจริญเติบโต เมื่อตรวจพบความผิดปกติของระดับฮอร์โมนดังกล่าว กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อจะพิจารณาการรักษา โดยให้ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนชนิดฉีด เท่านั้น เพราะในปัจจุบันยังไม่มีฮอร์โมนเจริญเติบโต ชนิดกิน ชนิดพ่น หรือแบบอื่นๆ ตามที่ได้มีการโฆษณา ชวนเชื่อ นอกจากนี้ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กเฉพาะทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลทางด้านจิตใจ และระบบร่างกายอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อเล็ก และมีไขมันสะสมมาก เป็นต้น


ด้าน นพ.สุทธิพงศ์ อธิบายถึงการวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า เนื่องจากฮอร์โมนเจริญเติบโตหลั่งขึ้นๆ ลงๆ เป็นรูปคลื่น (Pulsatile Secretion) ตลอดทั้งวัน ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงต้องให้ยาไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโตออกมา หากกระตุ้นแล้วระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตไม่ออกมาเท่าที่ควรจะเป็นก็จะแสดงให้เห็นว่า ความสามารถของต่อมใต้สมองในการผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตนั้นทำได้ไม่ดี


"ถ้าวินิจฉัยแล้วพบว่ามีก้อนเนื้อหรือซีสต์ไปกดต่อมใต้สมองไว้ แพทย์ต้องผ่าตัดนำก้อนพวกนี้ออก แต่ถ้าไม่มีอะไรไปกดทับ แต่เป็นเพราะการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมอง แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนเจริญเติบโตสังเคราะห์ไปทดแทน เสมือนกับถ้าน้ำในโอ่งเริ่มพร่อง เราก็จะเติมให้เต็ม โดยทั่วไปในเด็กเราจะมุ่งเน้นเรื่องการเจริญเติบโตเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในเด็กที่ขาด แพทย์จะให้ยาจนกระทั่งเด็กได้ความสูงสุดท้าย คือ สูงดีเท่ากับเด็กปกติและจะหยุดการรักษา ส่วนในวัยผู้ใหญ่จะต้องรักษาต่อไหม แต่ละรายจะต้องมารีเทสต์ฮอร์โมนกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะแม้ว่าวัยผู้ใหญ่จะไม่สูงขึ้นแล้ว แต่การขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตอาจมีผลทางด้านอื่น เช่น ทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกไม่แข็งแรง เป็นต้น"


จากการสัมภาษณ์คุณแม่ท่านหนึ่งที่มีบุตรชายเป็นภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต เธอเล่าว่า ได้สังเกตเห็นลูกชายสูงช้าลงในช่วงวัย 4-6 ขวบ คือ มีความสูงเพิ่มขึ้นปีละไม่ถึง 1 ซม. จากปกติต้องเพิ่มขึ้นปีละ 3-5 ซม. จึงพาลูกไปพบกุมารแพทย์และทำให้ทราบว่า ลูกชายคนโตประสบกับภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต


"เราสังเกตได้จากความสูงของลูกที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก รวมถึงเสื้อผ้าของลูกที่ใส่ไซส์เดิม ใส่กางเกงเบอร์เดิม และลูกสาวคนเล็กเริ่มมีความสูงเท่ากับพี่ชาย ในตอนแรกเราไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไร เพราะเขายังกินได้เหมือนเดิม นอนได้ดีเหมือนเดิม แค่ตัวไม่โตขึ้นเท่านั้น และไม่เคยรู้จักภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตมาก่อน เลยตัดสินใจพาไปหาคุณหมอและรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมน ลูกเริ่มฉีดยาครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ จนตอนนี้อายุ 13 ปี เขาสูงขึ้นเกือบ 10 ซม. ซึ่งสูงไม่ต่างจากเพื่อนร่วมชั้น ทำให้คนเป็นแม่สบายใจขึ้น แต่ก็ยังต้องรักษาต่อเนื่อง คือ ไปพบคุณหมอทุกๆ 3 เดือน และฉีดฮอร์โมนทุกคืนก่อนนอน รวมถึงการดูแลเรื่องเวลานอนว่าต้องนอนหลับก่อนสี่ทุ่ม สนับสนุนให้ลูกเล่นกีฬา และดูแลเรื่องอาหารให้เขา รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ได้ เดือนละ 1 กก. ก็จะเป็นตัวเสริมให้ลูกสูงขึ้นได้"


คุณแม่ท่านนี้ยังได้ฝากถึงผู้ปกครองทุกคนว่า พ่อแม่ควรสังเกตลูกในช่วงวัยเจริญเติบโตว่ามีความผิดปกติเรื่องความสูงหรือไม่ และควรพาลูกไปพบแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจร่างกาย หากมีความผิดปกติก็จะสามารถรักษาให้หายได้โดยไม่สายเกินไป


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับความสูงมากขึ้น จึงมีโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการเพิ่มความสูงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการยืดกระดูก การรับประทานอาหารเสริมสำเร็จรูป หรือการฝังเข็มเพิ่มความสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงโดยไม่ได้ผล ดังนั้นการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือ


"อาหารเสริมเพิ่มความสูงที่โฆษณาตามสื่อออนไลน์ หากดูส่วนประกอบแล้วจะเป็นพวกโปรตีน นม อาจจะมีแคลเซียมปะปน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเรื่องการเจริญเติบโตของกระดูกอยู่แล้ว แต่ถามว่ากินอาหารเสริมพวกนี้แล้วจะสูงหรือไม่ ยังไม่มีทางการแพทย์พิสูจน์" นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม


ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เด็กจะสูงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หลักๆ คือ พันธุกรรม ซึ่งมีผลต่อความสูงค่อนข้างมาก สอง หากพันธุกรรมดีแต่กินอาหารได้ไม่สมบูรณ์ก็จะส่งผลให้เด็กโตช้า สาม สภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้เด็กโตได้ดี ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนที่ดีพอ และการออกกำลังกายที่ดีพอ จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโตซึ่งจะส่งผลให้เด็กโตได้ดี เพราะฉะนั้นถ้าพันธุกรรมดี กินดี พักผ่อนดี ออกกำลังกายดี และฮอร์โมนเจริญเติบโตไม่ผิดปกติ ก็จะทำให้เด็กสูงดีตามไป


รวมทั้งยังเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ ที่ต้องสังเกตบุตรหลานและลูกศิษย์ถึงความผิดปกติทางร่างกาย เพราะเรื่องความเตี้ยที่อาจดูเป็นเรื่องทั่วไป โดยเฉพาะกับเด็กไทยอาจมีภาวะซ่อนเร้นที่ต้องรักษาอย่างทันท่วงที

Shares:
QR Code :
QR Code