โรคอ้วน ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
จากการสังเกตผู้เสียชีวิต จากการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ พบว่า ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ "โรคอ้วน" รวมถึงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งอยู่ใน กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หลายรายเป็นผู้ที่มี "อายุน้อย" ภาพรวมในระลอกเดือนเม.ย. พบผู้เสียชีวิตมีอายุเฉลี่ย 29 ปี ต่างจาก การระบาดระลอกที่ผ่านมาซึ่งผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว
เฉพาะผู้เสียชีวิต จำนวน 11 ราย ในวันที่ 25 เม.ย.2564 พบว่า ส่วนใหญ่ มีโรคประจำตัว คือ โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กว่า 9 ราย ได้แก่ รายที่ 1 ชายไทยอายุ 27 ปี จากกทม. มีภาวะเบาหวาน และโรคอ้วน รายที่ 2 หญิงไทย อายุ 34 ปี จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัวเป็นไซนัสอักเสบ และโรคอ้วน รายที่ 3 ชายไทย อายุ 69 จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเก๊าท์
รายที่ 4 หญิงไทย อายุ 62 ปี จ.สุโขทัย มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันใน เส้นเลือด รายที่ 5 ชายไทย อายุ 70 ปี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีโรค ประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง รายที่ 6 ชายไทย อายุ 45 ปี จ.นครพนม มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
รายที่ 7 ชายไทย อายุ 35 ปี จ.นครราชสีมา มีโรคประจำตัว โรคอ้วน รายที่ 8 ชายไทย อายุ 34 ปี กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน และโรคอ้วน และ รายที่ 10 ชายไทย อายุ 35 ปี กทม. มีโรคประจำตัวโรคอ้วน
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์ พบว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติดโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรกๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรกๆ ที่เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
เว็บไซต์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ "เบาหวาน อ้วน รู้ทันความเสี่ยง COVID-19" ว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนมักจะมีโรคร่วมหรือผลข้างเคียง จากโรคอ้วนร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป คล้ายคลึงกับโรคเบาหวานนอกจากนี้คนที่มีโรคอ้วนโดยเฉพาะคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) สูงๆ อาจมีผลทำให้การขยายตัวของปอดทำได้จำกัด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่ปอด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้ป่วยโรคอ้วน มีอาการป่วยหนักและต้องเข้ารักษาในห้องภาวะวิกฤติ (ICU) อาจจะมีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจ การหาเตียงที่รองรับน้ำหนักได้มาก ๆ หรือ การทำ X-Ray Computer ที่อาจจำกัดขนาดและน้ำหนักของผู้ป่วย
ทั้งนี้ "โรคอ้วน" เป็นหนึ่งในกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) "ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์" ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันพบ "คนอ้วน" มากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยในปี 2557 ถึง ปัจจุบัน พบ คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็น 34.1% มีภาวะ "อ้วน" และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน "อ้วนลงพุง" กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็น37.5% ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในปี 2563 ที่ผ่านมา "ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์" หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึง ความเสี่ยงของผู้สูงอายุและคนอ้วนกับโควิด-19 ว่า ผู้สูงอายุวัย 65 ขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น รวมถึงผู้ที่โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหรือแม้แต่โรคมะเร็ง และคนที่กินยากดภูมิก็มีโอกาสติดเชื้อ โควิด-19ได้ง่าย ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้โรคมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่าย
จากการศึกษาของสหรัฐพบว่า ใน ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ในการติดเชื้อโควิด-19 เกี่ยวข้องกับโรค ความดันโลหิตสูง รองลงมาเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด ส่วน "ความอ้วน" เป็นสาเหตุ อันดับ 3 แต่ในกลุ่มที่อยู่วัยทำงาน อายุระหว่าง 18-49 ปี โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีโอกาสที่จะป่วยเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่า
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของชาวเมืองนิวยอร์กกว่า 7,000 คน พบว่า คนอ้วนป่วยเป็น โควิด-19 ถึง 40% และเป็นโรคเบาหวาน 34% ส่วนที่ประเทศจีน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว และมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 มีโอกาสเสียชีวิต 88% แต่ถ้าดัชนีมวลกายไม่ถึง 25 มีโอกาสเสียชีวิตแค่ 12% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น
ผศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า คนอ้วนเมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย ซึ่งในคนอ้วน เซลล์ไขมันในร่างกายจะมีตัวรับเชื้อ โควิด-19 มากกว่าในปอด นอกจากนี้ ความอ้วนถือเป็นการอักเสบเรื้อรัง หากเกิดการอักเสบเฉียบพลันจากโควิด 19 หรือปอดอักเสบก็จะรุนแรงกว่าคนอื่น ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็น โรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจด้วย
"ถ้ามีทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนความดันโลหิตสูงกับเบาหวานมีความสัมพันธ์กันทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด 19 ได้ถึง 1.8 – 2.3 เท่า เชื้อ โควิด-19จะเป็นตัวกระตุ้นให้การอักเสบรุนแรงมากขึ้นจนลามไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ไตวาย หัวใจล้มเหลว ปอดล้มเหลว และสุดท้ายอาจทำให้เสียชีวิตได้" ผศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการมี โรคอ้วน คือ "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" หรือ Sedentary Behavior หมายถึง การนั่งหรือนอนในกิจกรรมต่างๆ โดยใช้พลังงาน 1.5 MET (หน่วยที่ใช้ในการ ประมาณค่าของจำนวนออกซิเจนที่ถูก ร่างกายใช้) ไม่รวมการนอนหลับ
ขณะที่ เรามี "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" ระบบเมตาบอลิกในร่างกายของเราจะทำงานแย่ลง รวมถึงอัตราการเผาผลาญพลังงาน ก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ในที่สุด มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจาก โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน และภาวะของเมตะบอลิคซินโดรม หรืออาจเรียกว่า "โรคอ้วนลงพุง" มี สาเหตุเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ส่วนเด็กที่อายุไม่เกิน 8 ปี ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน ปัญหาความดัน ระดับคอเลสตอรอล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเข้าสังคม และผลการเรียน เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่า'อ้วน'
ข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจโรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือ ค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำณวนได้จากการใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วย ส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้ ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5×1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง
นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอว ตรงระดับ สะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่า ค่าดังกล่าวนี้แล้ว ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ นั้นสูงขึ้น
โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI: Body Mass Index ดังนี้ ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีค่า BMI ตั้งแต่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกินค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง