โรคละ ‘บาท’
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเฟสบุ๊คแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว
เด็กสาว : คุณหมอคะ…หนูมีอะไรกับแฟน ตอนนี้ ประจำเดือนไม่มาคะ เป็นอะไรหรือเปล่าคะ
คุณหมอ : ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ครับ มี การคุมกำเนิดไหม
เด็กสาว : ไม่ได้คุมคะ แต่วันรุ่งขึ้นหนูไปซื้อยาคุมฉุกเฉินมากินแล้วนะคะ หนูจะท้องไหมคะ
คุณหมอ: …..
คำถามเหล่านี้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ทว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ถามเสมอ นั่นคือสิ่งที่คุณหมอ ทุกคนที่อยู่ในห้อง แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว เข้าใจและยินดีตอบทุกคำถาม ไม่ว่าจะเป็นอะไรมาก็ปรึกษาได้
บางคนเวลารู้สึกไม่ค่อยสบาย ไม่อยากไปหาหมอ เพราะไหนจะเสียเวลาทั้งเดินทางและรอคิวตรวจ เสียเงินเยอะ ฯลฯ ปัจจุบันนี้ป่วยเป็นอะไรก็หาข้อมูลได้ในโลกออนไลน์ ไปปากซอย ซื้อยามาทานเอง แต่อาจจะเป็นดาบสองคมทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงได้ เพราะในโลกออนไลน์นั้นมีข้อมูลมากมาย บางครั้งดูเหมือนจะขัดแย้งกันเองจนไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลไหน
กลุ่มหมอจิตอาสา นำโดย น.พ.อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐหรือ หมอเกมส์ จึงรวมกลุ่มเพื่อนหมอศิริราช รุ่น 103 ที่มีประสบการณ์แพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ เปิดเว็บไซต์ที่ ชื่อว่า www.sosspecialist.com เพื่อให้คำปรึกษา ไขข้อข้องใจโรคเฉพาะทางต่างๆ ให้ข้อมูลความรู้และการดูแลสุขภาพพื้นฐานแบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ
โดยจะมีคุณหมอผลัดเปลี่ยนกันมาพูดคุยกับคนไข้บนหน้าเว็บ แบ่งออกเป็นห้องตรวจเฉพาะทางทั้งหมด 16 ห้อง ได้แก่ อายุรกรรม, ศัลยกรรม, โรคเด็ก, สูตินรีเวช, กระดูกและข้อ, กายภาพบำบัด, จิตเวช, ตา, ทันตกรรม, ผิวหนัง, รังสีวินิจฉัย, มะเร็ง, หู คอ จมูก, เภสัชกร, แพทย์แผนจีน และโภชนาการ รวมถึงมีห้องสนทนาให้แลกเปลี่ยนและแชร์ประสบการณ์ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอีกด้วย
จุดสตาร์ทหมอบาทเดียว
นพ.อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ปัจจุบันประจำอยู่ศูนย์ความงาม โรงพยาบาลพญาไท 2 และคลีนิค Grand Master แถวนนทบุรี เล่าถึงคำว่า "หมอบาทเดียว" ว่าเป็นเพียงกิมมิค เหมือนค่าครูเวลาดูหมอ คนไข้มักถามว่าจะจ่ายตังค์ที่ไหน หมอตอบว่าแค่คุณเปิดไวไฟ คุณก็เสียตังค์ไปแล้วเรียบร้อยครับ เขากล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการหมอบาทเดียว กว่าจะก่อตั้งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการสร้างเว็บไซต์ หมอมีแต่ใจใช่เศรษฐี มีเงินถัง จึงเขียนโครงการไปเสนอ สสส. พอผ่านต้องหา ทีมแพทย์จิตอาสา ก่อร่างสร้างทีมกันมาโดยเริ่มจากหมอศัลยกรรม จนครบทุกกระบวนท่า
"โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เกิดจากนั่งเล่นอินเทอร์เน็ต เฟสบุ๊คกับเพื่อนๆ ในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ศิริราช 103 เราตั้งขึ้นมาเพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ บางทีมีเพื่อนหมอที่ไปทำงานในจังหวัดไกลๆ ถ่ายภาพ นำเคสต่างๆ มาปรึกษาเพื่อช่วยในการรักษา บางทีมีคำถามเช่นพ่อแม่ป่วยไปรักษาที่ไหนดี จึงคิดว่าตรงนี้ถ้านำมาเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้ามา ซักถามก็น่าจะมีประโยชน์มาก จึงมีแนวคิดว่าจะทำเว็บไซต์โดย นำเสนอโครงการไปที่ สสส. ประชุมนำเสนอหลายครั้งจนกระทั่งได้งบประมาณมาทำ"
หมอเกมส์เล่าต่อไปว่า "พอได้เงินมาทำก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชวนเพื่อนๆ ศิริราช 103 มาทำด้วยกัน เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วย กับคนที่ไม่เห็นดีด้วย มีคนตั้งคำถามว่าทำแล้วจะได้อะไร ก็มีประเด็นดราม่าบ้าง ถ้าคนไข้ถามเข้ามาแล้วตอบผิดเกิดอะไรขึ้นถูกฟ้องล่ะ ตอนแรกสุดเลยก็รู้สึกท้อ เพราะไม่มีหมอแล้วใครจะมาตอบคำถาม ก็เลยเริ่มที่เราก่อนซึ่งเป็นหมอศัลยกรรม จนตอนนี้เรามีหมอที่จะเข้ามาช่วยกันตอบคำถาม 34 คน โดยมีหลักการหรือคอนเซ็ปต์ก็คือ ช่วยคนไข้ได้แค่แนะนำ ไม่ได้วินิจฉัยโรค เพราะเราไม่ได้ตรวจร่างกาย
แต่อาจารย์เคยสอนพวกเราตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ว่า ถ้าเราซักประวัติคนไข้ดีๆ ให้เวลากับคนไข้มากหน่อย ก็จะช่วยในการวินิจฉัยได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เราก็เลยให้เวลากับคนไข้เยอะหน่อย เพราะคนไข้บางคนอยู่ต่อหน้าหมอจะไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ เราจึงแนะนำคนไข้ว่าให้ทิ้งรายละเอียดไว้ให้มากที่สุด เคยไปตรวจที่ไหนมาบ้าง บอกข้อมูลให้มากที่สุด ถ้าเราออนไลน์อยู่พอดีก็จะสามารถโต้ตอบกันได้"
ไม่สบายเป็นอะไรมาครับ?
เปิดเว็บไซต์เข้าไปทุกคนจะพบกับประโยคสั้นๆ แสนอบอุ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือ "ไม่สบายเป็นอะไรมาครับ" ทว่ามี 5 คำแนะนำ ถามอย่างไรให้ได้คำตอบ โดยข้อแรกต้องบอกข้อมูลของผู้ถาม เช่น เพศ อายุ และบอกด้วยว่าถามให้ใคร ถามให้ตัวเอง หรือญาติ ถัดมาต้องเล่ารายละเอียดของอาการให้มากที่สุดเท่าที่จะนึกออก ถ่ายภาพมาให้ดูยิ่งเยอะยิ่งดี และในกรณีที่เคยไปตรวจรักษามาแล้ว ยังมีความสงสัยอยู่ ช่วยเล่าให้ฟังอย่างละเอียด และกรุณาถามในกล่องข้อความเท่านั้น เพราะข้อมูลบางอย่างอาจเป็นเรื่องส่วนตัว มิเช่นนั้นข้อมูลลับของคุณจะถูกเปิดเผยให้โลกรู้ด้วยตัวคุณเอง
"กฎกติกาเช่นให้ใช้คำสุภาพ เวลาโพสต์คำถามอย่าโพสต์หน้าเพจ เพราะอาจจะมีคนเห็นเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็มีหลุดมานะครับ เช่น ถามว่าคุณหมอคะหนู ไม่สบาย ตกขาวผิดปกติ คนบนโลกใบนี้เห็นกันหมดเลยนะ บางทีโพสต์ภาพที่ ไม่น่าดูมา ต้องระวัง ต้องถามในกล่องข้อความ ใครที่ถามมาแบบนี้หมอจะไม่ตอบเลย อันนี้ต้องขอความร่วมมือด้วยนะครับ"
หมอเกมส์แสดงความคิดเห็นว่า หมอปัจจุบันนี้มีคนไข้เยอะ จึงมีเวลาให้กับคนไข้น้อย หรือหมออาจจะพูดเร็วใช้คำศัพท์ที่คนไข้ฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือขณะที่หมอมาตรวจ ญาติของคนไข้ไม่อยู่ตรงนั้น ทำให้คนไข้เข้ามาถามกับหมอออนไลน์แทน ดังนั้นหมอต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เช่นตอนนี้คนไข้อยู่ในภาวะอะไร แนวทางการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นต้น
"เคยมีเคสที่เข้ามาถามว่า ควรจะทำอย่างไร คนไข้ เป็นมะเร็งรังไข่ เป็นคนที่อ้วนมาก มีภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน ทำให้เลือดวิ่งไม่สะดวก กลายเป็นลิ่มเลือด พอขยับตัว ลิ่มเลือดวิ่งไปอุดปอดหายใจไม่สะดวก ไปโรงพยาบาลหมอให้ยาสลายลิ่มเลือด แล้วญาติก็เข้ามาถามว่า หมอคะ หมอที่ โรงพยาบาลรักษาแบบนี้ถูกไหม เราก็ต้องบอกเขาว่า ยังไงก็ต้องเชื่อคุณหมอที่รักษาเขาอยู่ เพราะเราไม่ได้ตรวจไม่ใช่หมอที่อยู่ตรงนั้น มีอีกเคสถามว่าพ่อหนูเป็นไข้เลือดออกแต่หมอ ไม่ยอมให้เกล็ดเลือดซักที เราก็ต้องบอกว่าไข้เลือดออกบางทีไม่จำเป็นต้องให้เกล็ดเลือดเสมอไปนะ หมอเขาจะดูก่อนว่าเกล็ดเลือดต่ำแค่ไหน บางทีเกล็ดเลือดก็กลับมาเอง หมอเขาจะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะให้ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกเคสไป เราต้องเคลียร์ไม่ให้เขาไปออกฤทธิ์กับหมอที่โน่น"
หมอเกมส์ว่า คนไข้ส่วนหนึ่งไม่เคารพหมอเหมือนในอดีต บางทีหมอเองก็ทำให้คนไข้ไม่เคารพ สมัยก่อนมีคณะแพทย์ 5-6 คณะ ปัจจุบันมีมากถึง 20 คณะ จึงผลิตแพทย์ออกมาเป็นจำนวนมากต่อปี และอาจมีหนึ่งในนั้นที่ไม่ได้ต้องการจะเป็นหมอจริงๆ ก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตเล็กๆ ไม่ได้คิดจะทำร้ายเพื่อนแพทย์ด้วยกัน
คำถามเกรียนเกรียน
เป็นเรื่องธรรมดาของคนจิตไม่ว่างหรือเปล่าที่ต้องการยียวนกวนด้วยคำถามเกรียนเกรียน จนแพทย์ในห้อง "แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว" บางคนถึงกับขอหยุดพักทำใจสัก 1 อาทิตย์ ตัวอย่างคำถามเช่น….
"หมอครับชาหัวแม่Teenซ้ายเป็นอะไรครับ?" หมอต้องตั้งสมาธิทำใจแล้วตอบไปด้วยจิตเมตตาว่า "โอเคครับ มีอาการชากี่นิ้ว มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง แข็งแรงดีไหมครับ น้ำหนักตัวเท่าไหร่…." พอหมอถามกลับไป ดูเหมือนอาการเกรียน จะหายไปพลัน จึงหันกลับมาตอบดีๆ ว่า "ผมอายุเท่านี้ครับ ปกติแข็งแรงดี เพิ่งตรวจร่างกายมา ผมเอาผลเลือดให้หมอดูได้ไหมครับ" หมอตอบ "โอเคครับ ไหนเอามาให้ดูหน่อย เออ…น้ำตาลค่อนข้างสูงนะครับ"
ปัญหาเรื่องท้องไม่ท้องของเด็กมัธยม มีเข้ามาถามเป็นประจำ ทั้งตัวอวตาร ปลอมเฟซบุ๊คเข้ามาถาม บางคนก็ถามให้แฟน บางครั้งตัวจริงเข้ามาเล่าละเอียด เช่น
"หมอคะ หนูมีอะไรกับแฟน ตอนนี้ประจำเดือนไม่มาคะ เป็นอะไรหรือเปล่าคะ" เขาถามสั้นๆ แบบนี้แหละ หมอจึงถามต่อไปว่าประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ มีการคุมกำเนิดไหม คำตอบคือ ไม่ได้คุมคะ แต่วันรุ่งขึ้นหนูไปซื้อยาคุมฉุกเฉินมากินนะคะ ทำให้หมอรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ชาวไทยว่า ไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัย แต่เลือกวิธีง่ายๆ โดยการไปซื้อยาคุมฉุกเฉินซึ่งคุมได้เพียง 85 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หนำซ้ำมีโอกาสท้องนอกมดลูก เยื้อบุมดลูกเจริญผิดที่อีกด้วย
"แต่เด็ก ถึงเวลานั้นก็ไม่คิด อะไร กินยาคุมฉุกเฉิน พอกินแล้วประจำเดือนคลาดเคลื่อน เด็กพวกนี้ก็จะเข้ามาถามทั้งวันทั้งคืนเพราะเขากังวลมาก เคสแบบนี้มีเข้ามาทุกวัน เช่น หนูไปอ่านในอินเทอร์เน็ต กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนจะเลื่อนไปอีก 7 วัน จริงไหมคะ หรือว่าหนูจะท้อง เพราะตอนนี้เริ่มคัดตึงเต้านมแล้วค่ะ เราก็แนะว่าถ้ากังวลมากให้ไปซื้อที่ตรวจปัสสาวะมาตรวจดูก็ได้นะว่าท้องหรือไม่ท้อง คำถามหนึ่งคุยกันยาวเลยทีเดียว"
หมอคิดว่าแม้แต่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็จะพยายามตอบ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของคนที่ถามเข้ามาทุกคน หากเด็กคนนี้ท้องจริงๆ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่บ้านแตก แต่ก็มีบางคนที่สุดท้ายแล้วก็ท้องจริงๆ แล้วเข้ามาถามหมอว่า หนูจะทำยังไงดีคะ หมอก็จะไม่แนะนำอย่างอื่นนอกจากให้ไปปรึกษาผู้ปกครอง ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ดีที่สุด พอหมอแนะนำแบบนี้ก็เป็นอันจบคำถาม
หมอเกมส์ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉิน ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ฝรั่งถูกสอนให้ใช้ถุงยางอนามัยตั้งแต่เด็ก แต่บ้านเรายังไม่ได้สอนกันจริงจัง ภาระทั้งหมดจึงเป็นของผู้หญิง
หมอออนไลน์เป็นแค่ป้ายบอกทาง
กลุ่มแพทย์อาสา พร้อมให้คำแนะนำคนไข้เพื่อให้เดินหน้ารักษาอย่างตรงจุด ไม่เสียเวลา ถ้าคนไข้ถามไม่ตรงห้องหมอก็จะแนะนำวางลิงค์ไว้ให้ หาข้อมูลที่น่าเชื่อถือแปะไว้ให้อ่าน เพิ่มเติม
"อย่างในเว็บไซต์มีข้อมูลมากมาย ถ้าอ่านเองทั้งหมด อาจจะสับสนได้ บางอันก็ไม่น่าเชื่อถือ เรารู้ว่าข้อมูลไหนเชื่อถือ ได้ เอาไปแปะไว้ให้เขาอ่าน ทำหน้าที่ป้ายบอกทาง เช่น คนไข้ รายหนึ่งปวดข้อ ปวดกระดูก ไปโรงพยาบาลหาหมอกระดูก ปรากฏว่าเป็นรูมาตอยด์ ควรหาหมออายุรกรรม แต่เวลาก็หมดไปแล้ว 1 วัน พรุ่งนี้มาใหม่ โรงพยาบาลรัฐต้องมาตี 4 นั่งรอหมอนี่คือชีวิตจริง ถ้ามาปรึกษาเราก่อน สอบถามอาการกันแล้ว อาจจะแนะนำให้หาหมอตรงจุด นี่คือวัตถุประสงค์ของเรา เช่น ยูต้องเดินไปทางนี้นะจะได้ไม่หลงไม่เสียเวลา รวมทั้งเรื่อง คนไทยทุกคนมีสิทธิใช้บัตรทอง บางคนป่วยกลัวไม่มีเงินรักษาเพราะไม่ได้ทำงาน โดยที่เขาไม่รู้ว่าเขามีสิทธิบัตรทองไม่ต้องกลัวเรื่องค่าใช้จ่าย"
หมอเกมส์เล่าว่าห้องที่มีคนเข้ามาถามมากทีสุดก็คือ "อายุรกรรม" ส่วนใหญ่เป็นโรคหลักๆ เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน มะเร็ง ถัดมาเป็นโรคเด็ก และอันดับสามคือ ห้องศัลยกรรม ที่ไม่เกี่ยวกับความสวยความงาม ยกตัวอย่างคำถามเช่น เป็นมะเร็งเต้านมตัดออกไปแล้ว แต่เผอิญไปนั่งคุยกับอีกคนที่เป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน ตัดออกไปแล้ว เหมือนกัน แต่คนนั้นต้องไปฉายแสง ทำไมของเราต้องทำคีโม เป็นต้น
ถ้ามีคนไข้ถามว่า หมอคนไหนเก่งด้านนี้บ้าง? จะไม่มีคำตอบว่า หมอศิริราช หมอจุฬาฯ แต่จะถามว่าคนไข้บ้าน อยู่ที่ไหน หมอจะแนะนำให้ไปหาโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน พร้อมรายชื่อหมอผู้เชี่ยวชาญให้เลือกปรึกษา เช่น หากอยู่ที่จังหวัดแพร่ แนะว่าไปโรงพยาบาลสวนดอกสะดวกไหม เป็นต้น
ความหวังของหมอบาทเดียว
โครงการนี้ถือว่าดีสำหรับประชาชน ไม่เฉพาะคนไทยที่อยู่ในเมืองไทยเท่านั้น แม้กระทั่งคนไทยที่อยู่ต่างแดนยังเข้ามาขอคำปรึกษา เช่น คนไข้รายหนึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศคองโก ติดเชื้อไข้มาลาเรีย ส่งผลตรวจร่างกายที่เป็นภาษาฝรั่งเศส มาให้ดู หมออาสาต้องช่วยกันแกะภาษาฝรั่งเศส แล้วอธิบายให้ผู้ป่วยฟัง อย่างน้อยคนที่อยู่ต่างแดนคงได้อุ่นใจที่ได้ปรึกษาหมอที่พูดภาษาเดียวกัน
"ตอนนี้หมอในประเทศไทย รหัส 5 หมื่นแล้วนะ แสดงว่า หมอมีอยู่จำนวนมาก ถ้าหมอ 30 คนตอบคำถามคนไข้ได้ประมาณหนึ่ง หมอ 100 คนก็น่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยถือว่าสุดยอดแล้ว ฝรั่งมาเกิดอุบัติเหตุบ้านเรากรามหัก หมอผ่าตัดใส่เหล็กให้ เขายังบอกว่าระบบของเมืองไทยนี่สุดยอด อเมริกายังสู้ไม่ได้ เป็นเพราะประเทศเรามีระบบที่ช่วยเหลือเจือจุนซึ่งกัน และกันนะผมว่า"
ความหวังของหมออาสาก็คือ หากมีหน่วยงานรัฐบาล กระทรวงอะไรก็แล้วแต่ ต้องการยกโปรเจ็กต์นี้ไปทำให้ชัดเจนขึ้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตอบคำถามมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากขึ้น หมอเกมส์แค่จุดประกายว่า แบบนี้คุณหมอทำได้นะไม่ต้องกลัว เพราะตอนแรกหลายคนไม่กล้ารับงานอาสานี้ กลัวว่าหากตอบผิด คนไข้ฟ้องร้องอาจติดคุกได้
หลังจากทำงานมาได้ 2 ปี คุณหมออาสาบอกว่ารู้สึกถึงประโยชน์ที่ได้ช่วยคนจริงๆ เช่นเคยตอบคำถามให้กับพยาบาล รพ.สต. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานในสถานีอนามัยตามหมู่บ้านต่างๆ เข้ามาปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คิดว่าหากมีการทำงานที่เป็นระบบร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และไอซีที ก็จะมีประโยชน์ต่อคนไทยมากกว่านี้
สำหรับหมอเกมส์เขาใช้เวลาว่างหลังผ่าตัด และ 3 ทุ่มหลังจากส่งลูกเข้านอน เรียกได้ว่าว่างเมื่อไหร่เข้าไปตอบคำถาม เมื่อนั้น เช่นเดียวกับ พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ไม่เห็นหน้าที่นี้เป็นภาระ ว่างเมื่อไหร่ก็เข้ามาตอบคำถาม คุณแม่มือใหม่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลาพักกลางวัน นอกเวลางาน วันที่ไปเที่ยวกับครอบครัว ก็สามารถเข้าไปตอบปัญหาได้ เพราะชีวิตทุกวันนี้อยู่กับโชเชียลมีเดียอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนมาทำให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น
"ไม่รู้สึกว่าเป็นการทำงานเลย ขอเพียงช่วยคนไข้ได้ ก็รู้สึกมีความสุขแล้ว"
"กลุ่มแพทย์อาสา รับปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ เป็นอะไรมาพร้อมตอบทุกเรื่อง"