โรคลมแดดหน้าร้อน
ที่มา : ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
ห่วงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เสี่ยงเป็นโรคลมแดดในช่วงหน้าร้อน แนะดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
นพ.พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า โรคลมแดดเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน เช่น ตัวร้อนจัด ชีพจรเต้นเร็ว กระสับกระส่าย ระดับความรู้สึกตัวลดลง หมดสติ ชักเกร็ง กลไกการทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อนจะปรับตัว โดยส่งน้ำ หรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ และทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆสัญญาณสำคัญของโรคนี้ คือไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้หายใจเร็ว และอาเจียน ซึ่งต่างจากการเป็นลมแดดทั่วๆไป
การช่วยเหลือให้นำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม จัดให้นอนราบ คลายเสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบร่างกายใช้พัดลมช่วยเป่า เพื่อลดอุณหภูมิแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน รวมทั้งผู้ที่ดื่มสุรา จะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม การป้องกันคือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอประมาณ 2 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ออกกำลังกายเสียเหงื่อมากๆควรกินอาหารที่มีโปแตสเซียม เช่น น้ำผลไม้ หรือผลไม้ต่างๆ หากมีอาการติดต่อได้ที่ โทร.1669.