โรคพาร์กินสัน
ที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนในครอบครัว หรือคนที่เราพบเห็นในที่สาธารณะ หรืออาจเป็นตัวท่านเอง แขนและมือมีอาการสั่นข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจ ๒ ข้าง ซึ่งมักสั่นในท่าพักไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร มีอาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า มีอาการทรงตัวผิดปกติ
บางครั้งเจ้าตัวก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร บุคคลที่ท่านพบเห็นหรือตัวท่านนั้นเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่ เพื่อจะได้เข้าทำการรักษากับแพทย์ได้ทันท่วงที
โรคพาร์กินสัน (Parkinson ’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท โดยเฉพาะส่วนที่ผลิตสารควบคุมการเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่า สารโดพามีน (Dopamine) ชื่อโรคพาร์กินสัน ได้มาจากชื่อของแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกที่ได้พูดถึงอาการของโรคนี้ในปี พ.ศ.๒๓๖๐
โรคพาร์กินสันมักพบในผู้ป่วยสูงอายุ โดยมากจะพบตั้งแต่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายเพียงเล็กน้อย
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มีอาการอย่างไร อาการของโรคพาร์กินสัน มีอาการสำคัญ คือ
• อาการสั่น โดยเฉพาะแขนและมือ โดยมักมีอาการข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน โดยต่อมาอาจมีการสั่นเกิดขึ้นทั้ง ๒ ข้างได้ แต่มักมีความรุนแรงของการสั่นไม่เท่ากัน อาการสั่นมักจะเป็นในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในท่าพักไม่มีกิจกรรมใดๆ (resting tremor)
• อาการเคลื่อนไหวเชื่องช้า การเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น การเดิน การแต่งตัว การทำกิจวัตรต่างๆ เป็นต้น จะช้าลงอย่างชัดเจน ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม
• อาการแข็ง เกร็ง ของกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากจะเกิดในข้างเดียวกับที่มีอาการสั่น
• การทรงตัวผิดปกติ อาการนี้มักพบในผู้ป่วยที่ป่วยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ผู้ป่วยล้มได้ง่าย
อาการอื่นๆ ที่มักพบร่วมกับอาการดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ อาการทางจิตประสาท เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาการสำคัญเลย เพราะอาการเหล่านี้อาจนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลงได้
• อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ เช่น อาการความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ อาการท้องผูก การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
• อาการผิดปกติทางจิตประสาท เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะอารมณ์หงุดหงิด
• การนอนหลับที่ผิดปกติ โดยอาจพบว่าผู้ป่วยมีการหลับมากในช่วงกลางวัน และไม่หลับในช่วงกลางคืน และอาจมีการเอะอะโวยวายในตอนกลางคืน
• ภาวะสมองเสื่อม มักพบในผู้ป่วยพาร์กินสันที่ป่วยมาหลายปี โดยมักมีอาการสับสน หลงลืม พฤติกรรมผิดปกติ และเมื่อเป็นมากจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
เกิดจากกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่เรียกว่า ซับสเตนเชีย ไนกรา (Substantia nigra) ไม่สามารถสร้างสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสั่งการของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยสาเหตุมักเกี่ยวข้องกับ
• ปัจจัยทางพันธุกรรม
• ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีบางชนิดที่มีพิษทำลายสมอง
• การได้รับยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการทางจิต ยาแก้อาเจียน เวียนศีรษะ
• ความชราภาพของสมอง มักเกิดขึ้นกับผู้มีอายุตั้งแต่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป โดยพบได้บ่อยพอๆ กันทั้งเพศหญิงและเพศชาย
• ภาวะขาดวิตามินบี และโฟเลต