โยคะแม่กะลูก ฝึกพัฒนาการเด็กสร้างสุขในครอบครัว

“โยคะ” สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเคลื่อนกายกับใจเราไปพร้อมๆ กัน นั่นถือว่าเรากำลังฝึกโยคะแล้ว

อกจากนี้หากมีการฝึกโยคะกันทั้งครอบครัว  ก็จะมีเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ทางใจเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สามารถสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจ ความไว้วางใจ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นอีกด้วย

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “โยคะแม่กะลูก” เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้จูงมือกันมาฝึกโยคะ กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยนำวิทยากรจากสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน “ครูตุ้ย-ภัทรพร นิยมไทย” ให้มาเป็นผู้ฝึกสอน

ครูตุ้ยให้คำนิยามของโยคะไว้ว่า เป็นการสอดประสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างกาย ลมหายใจ และจิตใจ ซึ่งเมื่อทั้ง 3 ส่วนสอดประสานกัน จะนำพาเราไปสู่การพัฒนาในเรื่องของสติ และสมาธิได้

“การเล่นโยคะสำหรับเด็ก ก็คล้ายกับท่าโยคะในผู้ใหญ่เพียงแต่มีข้อจำกัดในเรื่องของช่วงอายุ เพราะบางท่าเด็กเล่นได้ บางท่าก็อาจเล่นไม่ได้ เช่น ท่าที่ต้องแอ่นกระดูกสันหลังมากเกินไป อาจจะไม่เหมาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ขวบ หรือท่าที่ต้องอาศัยการยืดตัว หรือการไขว้มากๆ เด็กก็อาจจะยังไม่สามารถทำได้นั่นเอง”

ครูตุ้ยเล่าถึงประโยชน์ของการเล่นโยคะว่า สามารถมองออกเป็น 2 ส่วนเหมือนโยคะผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องกายและใจ ในด้านร่างกาย คือ สามารถพัฒนากล้ามเนื้อ มัดเล็ก มัดใหญ่และอวัยวะภายใน รวมถึงการไหลเวียนของเลือด การทำงานของปอด หัวใจ และเรื่องของระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ ระบบประสาท ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นผ่านการเคลื่อนไหว หรือการสัมผัส ก็จะช่วยเรื่องสมองได้ด้วย

“ในส่วนของใจ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ถ้าเขาสามารถ มีโฟกัสที่ใจของเขา ไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายเท่ากับว่าเราได้พัฒนาสติของเขาได้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว การเล่นโยคะก็คล้ายกับการเดินจงกรม แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่นอก รูปแบบ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กในส่วนหนึ่งด้วย แต่ที่ สำคัญสำหรับเด็กอีกส่วนหนึ่งคือ ถ้าเป็นเด็กเล็กมากๆ เราอาจจะ ยังไม่คาดหวังไปไกลถึงขั้นนั้น แต่เขาจะได้ฝึกในเรื่องของบุคลิกภาพที่ดี การพัฒนาสมดุลร่างกาย ซ้ายขวา การเหยียดยืด ความยืดหยุ่นของร่างกาย ความแข็งแรง”

ครูตุ้ยยังแนะนำสำหรับพ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่อยากจะสอนให้ลูกเริ่มเล่นโยคะ ว่า ในขั้นแรกให้ดูที่ช่วงวัยของเด็กก่อน เพราะมีบางท่าที่จำกัดสำหรับเด็กบางวัย ต่อมาคุณพ่อหรือแม่ควรจะได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้มีความรู้ความเข้าใจในโยคะอย่างแท้จริง เข้าใจในเรื่องของพัฒนาการเด็กและต้องเตรียมการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัยนั่นเอง

“นอกจากนี้ ถ้าผู้สอนมีความเข้าใจโยคะในแง่ที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่การเคลื่อนไหวร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกำหนดลมหายใจไปด้วย การฝึกก็จะได้มากกว่า โดยเคล็ดลับในการดึงเด็กให้หันมาสนใจ ก็อาจจะเล่าเป็นนิทานบ้างร้องเป็นเพลงบ้าง ประกอบกันไป หรือเล่นเป็นเกมก็ได้” ครูตุ้ยย้ำ

ในลานฝึกโยคะ คุณแม่สิริเพ็ญ ธนพลไพศาล ที่ควงคู่ มากับ เด็กหญิงจีน – เด็กชายชัยภัทร ธนพลไพศาล กล่าวถึง การนำลูกมาเล่นโยคะว่า การใช้เวลาว่างในการเล่นโยคะกับลูกๆ อย่างน้อยก็ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองอยู่กับครอบครัว และ ยังทำให้สุขภาพกายและใจแข็งแรงอีกด้วย

“ปกติคุณแม่ก็เล่นโยคะอยู่แล้ว และข้อดีของการฝึกให้เด็กๆ เล่นโยคะก็ถือเป็นการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ พร้อมกับได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ซึ่งพวกเขาก็ชอบ เพราะปกติวันหยุดก็จะอยู่บ้าน เล่นเกม แต่พอมีกิจกรรมก็จะพยายามพาเขาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อทำให้เขามีมุมมองที่กว้างขวางขึ้น และ ได้รู้จักการเข้าสังคมมากขึ้น” คุณแม่สิริเพ็ญเล่า

เช่นเดียวกับคุณพ่อสมชิด วรรณเจริญศรี ที่อาสาพาลูกๆ ทั้งสองคน เด็กชายติณณ์ – เด็กหญิงนันท์ วรรณเจริญศรี เข้าร่วมกิจกรรมโยคะในครั้งนี้ได้ให้ความเห็นว่า จะสามารถนำไปใช้ที่บ้านได้ เพราะมีท่าฝึกที่เข้าใจง่าย เด็กๆ ก็ตั้งใจว่าจะนำไปสอนคุณแม่อีกด้วย ซึ่งการเล่นโยคะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีสมาธิ ทำให้ใจเย็นมากขึ้นด้วย

การฝึกโยคะในเด็กก็เป็นเหมือนการได้จินตนาการไปด้วย และถ้าได้เล่นเป็นหมู่คณะกับเพื่อนๆ เด็กก็จะมีเรื่องของอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ถ้าจะมองให้ลึกมากไปกว่านั้น การที่เราได้สื่อสารกับร่างกายของตัวเองได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยปานมณี

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code