โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์


โภชนาการอาหารสำหรับผู้สูงวัย thaihealth


แฟ้มภาพ


การเลือกอาหารมีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านโภชนาการมากกว่าคนในวัยทำงาน เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของระบบร่างกายต่างๆ ลดลง ดังนั้นผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสารอาหารและโภชนาการ เพื่อจัดเมนูอาหารที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ


ดร.ศิริมา พ่วงประพันธ์ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุแต่ละคนความต้องการสารอาหารและพลังงานจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และการใช้พลังงานในแต่ละวัน แต่โดยทั่วไปตามคำแนะนำธงโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำปริมาณอาหารที่ผู้สูงอายุควรได้รับดังนี้


การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้สูงวัยซึ่งเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารและพลังงานต่างจากวัยทำงาน หรือผู้ที่มีสุขภาพร่างกายปกติ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของระบบต่างๆ ในร่างกายของผู้สูงวัย ดังนั้นจึงต้องมีความเข้าใจเรื่องอาหารและโภชนาการเป็นอย่างดี ซึ่งความต้องการสารอาหารและพลังงานในผู้สูงอายุแต่ละรายก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และการใช้พลังงานในแต่ละวัน


ตามคำแนะนำธงโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำปริมาณอาหารที่ผู้สูงอายุควรได้รับ ดังนี้ ใน 1 มื้อควรมีผักและผลไม้รวมแล้วได้ปริมาณครึ่งหนึ่งของจานที่บริโภคต่อวัน ข้าวหรือแป้ง 1/4 จานที่บริโภค เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง รวมกันได้ปริมาณ 1/4 จานที่บริโภค และควรดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ขณะเดียวกันผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อรักษาระดับน้ำหนักตัวให้คงที่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์


ข้อควรคำนึงในการจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุ คือ หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง ต้องจัดอาหารเพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพ ควรปรึกษานักโภชนาการ/นักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลด้วยเสมอ เพราะเงื่อนไขและสภาวะของโรคต่างๆ ของแต่ละคนแตกต่างกัน


ลักษณะอาหารสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นอาหารให้พลังงานพอเหมาะ แต่มีสารอาหารสูง ลักษณะอาหาร เคี้ยวกลืนได้ง่าย ย่อยได้ง่าย อ่อนนุ่ม รสชาติไม่รสจัดมาก อาจใช้เครื่องเทศ สมุนไพร ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติ นอกจากนี้ต้องมีสุขอนามัยที่ดี อาหารสะอาด การเตรียมอาหารถูกสุขลักษณะ สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว การจัดอาหารต้องสอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์


ข้อแนะนำในการเลือกวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหาร


ข้าวแป้ง : เลือกข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อย 50% ของปริมาณข้าวแป้งทั้งวัน

ผลไม้ : เลือกผลไม้ให้หลากหลาย หากเป็นผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสที่แข็งต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ


ผัก : เลือกผักหลากหลายสี ผักสุกอาจกินได้ง่ายกว่าผักดิบ หากเป็นผักดิบต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เคี้ยวง่ายขึ้น


เนื้อสัตว์ : เลือกเนื้อสัตว์ที่มีความอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่ายและย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา หรืออาจสลับกับเต้าหู้ ไข่ หากเป็นเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียวมากขึ้น เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือใช้วิธีบด /สับ


ถั่วเมล็ดแห้ง : เลือกถั่วหลากหลายสี ต้มถั่ว โดยใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ ให้ถั่วมีลักษณะที่อ่อนนิ่ม เคี้ยวกลืนง่าย


นม : เลือกนมพร่องมันเนย/นมขาดมันเนย หากมีอาการท้องเสีย อาจรับประทานเป็นโยเกิร์ต


ปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ ภาวะทุพโภชนาการขาดสารอาหาร เพราะประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายของผู้สูงอายุที่ลดลง เช่น ฟัน กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำให้ไม่อยากอาหาร จึงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องประเมินภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุเป็นระยะ กรณีที่แพทย์พิจารณาให้อาหารทางการแพทย์แก่ผู้สูงอายุ บางสูตรอาจมีการดัดแปลงสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละสภาวะของโรค ก่อนที่จะเริ่มใช้อาหารทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหาร เพื่อกำหนดปริมาณการใช้อาหารทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับความต้องการสารอาหารของร่างกาย


ปัจจุบันมีการผลิตอาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุซึ่งหาซื้อได้สะดวกมากขึ้น อาทิ ซุปเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ราคาไม่แพง เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวกลืนอาหาร ผู้ป่วยระยะพักฟื้น และผู้สูงวัยทั่วไป เป็นต้น กล่าวได้ว่า "อาหาร" องค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพที่ดี และอายุที่ยืนยาวของผู้สูงวัย

Shares:
QR Code :
QR Code