โพลชี้ “ร้านเหล้า” ยังเกลื่อนรอบมหาลัย

เผยผลสำรวจร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเพียบ ชี้นักศึกษาส่วนมากนิยมดื่มมากถึง 84.4 % น่าห่วง 1ใน 4 ไม่รู้ผบกระทบต่อสมอง วอนภาครัฐออกกฎหมายเอาผิดอย่างจริงจัง พร้อมควบคุมห้ามนำดาราเป็นพรีเซนเตอร์

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่โรงแรมฮิปโฮเทล เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีเสวนา เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ หัวข้อ “ร้านเหล้ารอบมหา’ลัย ภัยคุกคามเยาวชน…ปัญหาที่ไม่ถูกแก้” ทั้งนี้ภายในงานมีการโต้วาที “ปัญหาอยู่ที่ตัวนักศึกษาร้านเหล้าผับบาร์ไม่เกี่ยว…จริงหรือ” โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆกว่า 60 คน เข้าร่วม

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เปิดเผยผลสำรวจร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา12 พื้นที่ได้แก่ ม.รามคำแหง มรภ.จันทรเกษม ม.หอการค้าไทย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มรภ.สวนสุนันทา ม.เทคนิคกรุงเทพ ม.สยาม ม.ศรีนครินทรวิโรฒ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา และวิทยาลัยราชพฤกษ์ ระหว่างวันที่3-10 ก.ย. 2556 ในรัศมี 300 เมตร พบว่า มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น340 ร้าน เฉลี่ย 28 ร้านต่อ1มหาวิทยาลัย และที่น่าตกใจคือ กว่า 105 ร้าน หรือ1ใน 3 ที่ขายเหล้าบริเวณหอพัก ซึ่งเป็นการทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 อย่างชัดเจน

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษามหาวิทยาลัย 16แห่งใน กทม.และปริมณฑล จำนวน 1,608 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชาย46.71 %หญิง 53.29 % โดยกลุ่มตัวอย่าง74.75 % ระบุว่า หากมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาจะเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนนักเรียน นักศึกษาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังระบุถึงปัญหาที่พบในร้านเหล้ารอบสถานศึกษา อันดับแรก คือ ทะเลาะวิวาท39.73%เสียการเรียน20.28%เสียงดังรบกวน12.87%อุบัติเหตุ11.69%คุกคามทางเพศ 7.24 % ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือ 64.98 %เห็นด้วยอย่างยิ่ง หากมีกฎหมายมาควบคุมให้ร้านเหล่านี้อยู่ห่างจากสถานศึกษา อย่างน้อย 300 เมตร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอมานานแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งรัฐบาลควรตระหนักว่าจะช่วยลดผลกระทบ ปัญหาต่างๆ รวมถึงลดการเกิดนักดื่มหน้าใหม่

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงคือกลุ่มตัวอย่าง 71.08% เคยพบเห็นการใช้ศิลปินดารา นักกีฬา หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง มาโฆษณาผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย48.89 % มองว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้เยาวชนอยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่าง 51.32 % เห็นด้วย หากมีมาตรการห้ามธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ ศิลปิน ดารา นักกีฬาโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงห้ามใช้เป็นภาพปรากฏบนกระป๋อง ขวด หรือหีบห่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ นักศึกษา 58.16% ยังเห็นด้วยหากมีมาตรการห้ามโฆษณาสินค้าของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านทางสื่อโฆษณาทุกรูปแบบด้วย

 “ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน โดยไม่มีแนวโน้มลดลง อีกทั้งยังไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกชินชากับการทำผิดกฎหมายของร้านเหล้า อย่างไรก็ตาม วันเยาวชนแห่งชาติปีนี้ จึงอยากขอยาแรงจากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมร้านเหล้าให้อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย300 เมตร รวมถึงมีมาตรการห้ามศิลปินดารา นักกีฬาโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สินค้าของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ เนื่องจากเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ดื่ม และในเร็วๆนี้ทางเครือข่ายเยาวชนจะนำข้อมูลเข้าร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)” นายธีรภัทร์ กล่าว

ด้าน นางสาวเบญจพร บัวสำลี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยงานวิจัยล่าสุด ปี 2555 กรณีสถานการณ์ร้านเหล้ารอบรั้วมหาวิทยาลัย และผลกระทบต่อนักศึกษา พบว่า นักศึกษาสูงถึง 80.1% เห็นว่าร้านเหล้าเป็นแหล่งพบปะเพื่อนฝูง 57.0 % มองว่าเป็นแหล่งผ่อนคลาย และ39.8% ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบข้าง ซึ่งทัศนคติดังกล่าวมีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่น่าห่วง คือ สถิติการเข้าใช้บริการร้านเหล้า พบมากถึง 84.4% มีการดื่ม60.2% และที่สำคัญไม่ทราบถึงผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 29.2% เช่น ทำลายระบบสมองหรือประสาท อุบัติเหตุ เจ็บป่วยง่าย

นางสาวเบญจพร กล่าวว่า สภาพปัญหาที่เห็นได้ชัด คือ การปล่อยปะละเลย ไม่ควบคุมดูแลธุรกิจร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย ทำให้มีผลต่อทัศนคติและเกิดพฤติกรรมตอบสนองของนักศึกษา เห็นได้จากปริมาณนักศึกษาที่เข้าใช้บริการ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแนวทางแก้ไข มหาวิทยาลัยต้อง สอดส่องดูแลร้านเหล้าที่ผิดกฎหมาย และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเอาผิด นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนการจัดอบรม หรือกิจกรรม ปฎิเสธเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งควรออกกฎระเบียบบทลงโทษ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อพบนักศึกษาอายุต่ำกว่า20ปีเข้าใช้บริการ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับชุมชน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาธุรกิจร้านเหล้ารอบสถานศึกษาและเผยแพร่ผลกระทบให้ชุมชนได้ทราบ

 “ขอฝากไปยังภาครัฐให้ควรควบคุมสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด เช่น โทรทัศน์ นิตยสาร วิทยุ อินเตอร์เน็ต ฯลฯเพราะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถพบเห็นได้ทั่วไป อีกทั้งกลยุทธ์ในการทำธุรกิจนี้ยังขยายออกไปในทางเชิง csr หรือในเชิงธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกกลุ่มลูกค้าให้เกิดมุมมองที่ดี และกลายเป็นเรื่องชินตาที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคม นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เข้มงวดกำกับ ติดตาม สอดส่อง ดูแล และเอาผิดลงโทษต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย” นางสาวเบญจพร กล่าว

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ astv ผู้จัดการออนไลน์

 

Shares:
QR Code :
QR Code