โจ๋ไทยคิดดี หากเป็นนายกฯ จะให้มีภาพเตือนบนขวดเหล้า
สสส. ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดผลสำรวจล่าสุด พบ วัยโจ๋ 90.5% หากได้เป็นนายกฯ จะออกกฎเหล็กให้มีภาพคำเตือนบนขวดเหล้า เหตุได้ผลมากกว่าข้อความเพียงอย่างเดียว ชี้ภาพคำเตือนบนขวด ทำให้นักดื่มลดความสนใจ ไม่อยากลอง ลดนักดื่มหน้าใหม่ได้
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นางอารีกุล พวงสุวรรณ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ศวส. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำโครงการสำรวจความเห็นของประชาชนเรื่อง “การรับรู้และทัศนคติของเยาวชนไทยต่อมาตรการข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยทำการสำรวจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จาก 5 จังหวัดได้แก่ มหาสารคาม เชียงใหม่ สงขลา ปราจีนบุรี และกรุงเทพฯ จำนวน 1,512 ราย ระหว่างวันที่ 10-15 มิ.ย. 2553 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 64% ทราบว่ามีข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในจำนวนนี้มี 23% ที่สามารถจำข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการรับรู้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 78% รู้ว่ามีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งในจำนวนนี้มี 27% จดจำข้อความและภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ อย่างไรก็ตาม หากนำผลสำรวจดังกล่าวมาเปรียบเทียบกัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างสามารถจดจำภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ได้มากกว่าข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 22 %
“กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือ 95.5% คิดว่าภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีตัวอย่างในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลให้เยาวชนไม่ต้องการดื่มได้มากกว่าการมีข้อความคำเตือนเพียงอย่างเดียว และอีก 80.1% คิดว่าหากมีภาพคำเตือนจะสามารถเตือนใจและเพิ่มการรับรู้ถึงผลกระทบจากการดื่มได้มากกว่าข้อความคำเตือนเพียงอย่างเดียว ส่วน 81% เห็นว่าภาพคำเตือนจะลดแรงดึงดูด ความน่าลองของฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และเป็นที่น่ายินดีที่เยาวชนกว่า 90.5% บอกว่าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะออกกฎหมายให้มีภาพคำเตือน ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 5.8% เท่านั้น ที่จะออกกฎหมายให้มีเพียงข้อความคำเตือน และอีก 3.6% จะไม่ให้มีการเตือนใดๆบนฉลากสุรา” นางอารีกุลกล่าว
น.พ. ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการ ศวส. กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทาง ร่างประกาศของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำหนดให้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องแสดงข้อความคำเตือนประกอบรูปภาพ 4 สี 6 แบบ ตามขนาดที่กำหนด โดยมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนภาพคำเตือน เพราะจากประสบการณ์ ในการควบคุมการสูบบุหรี่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จในการใช้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่สามารถสร้างความตระหนักในการลดการบริโภคลงได้ ดังนั้นหากนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การควบคุมเกิดประสิทธิภาพ ลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาพคำเตือนยังช่วยป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ได้
ที่มา:สำนักข่าว สสส.
Update:3-08-53
อัพเดทเนื้อหาโดย :คีตฌาณ์ ลอยเลิศ