โฆษณาอาหารกับสุขภาวะของเด็ก

          เป้าหมายของการเลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข นั้นถือเป็นความฝัน ของพ่อแม่และผู้ปกครอง แต่หากเด็กๆ มีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง การเดินหน้าตามเป้าหมายนั้นคงจะทำได้ยาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ พ่อแม่ยุคนี้ ต้องเริ่มหันมาใส่ใจด้านโภชนาการ และสุขภาพของเด็กๆ อย่างจริงจัง


/data/content/26007/cms/e_ehopstux1457.jpg


          เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กๆ กับวัฒนธรรมการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ยาก เพราะไม่ว่ายุคใดสมัยไหน เด็กๆ ที่ได้รับสื่อทั้งภาพ และเสียง จากรายการวิทยุ โฆษณาทางโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งสื่อโฆษณาตามหน้าหนังสือต่างๆ มักจะตกเป็นเครื่องมือการตลาดของบริษัท ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยว ซึ่งว่ากันว่าสามารถทำยอดขายได้มากขึ้นทุกปี ในขณะที่กลไกการพัฒนารูปแบบการโฆษณาก็พัฒนาให้มีลูกล่อลูกชน และมีผลต่อการเลือกซื้อของเด็กๆ มากขึ้น


          โครงการมีเดีย มอนิเตอร์ ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถานีวิทยุจุฬา ได้จัดเสวนาเรื่อง "โฆษณาอาหารในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ให้ข้อมูล? คุณค่า? หรือพิษภัย?" ขึ้น ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเน้นย้ำ ให้สังคมทบทวนสาระในสื่อโฆษณาอาหารสำหรับ พร้อมเร่งหาแนวทางแก้ไขและป้องกันการนำเสนอที่ไม่เหมาะสม โดยในงานนี้มี ผู้ใหญ่ในบ้านเราที่ทำงานโดยตรงในเรื่องของโภชนาการและการพัฒนา คุณภาพชีวิตเด็กไทย แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาโภชนาการของเด็กในบ้านเรา และได้แสดงทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจ


          ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ให้ข้อมูลผลสำรวจซึ่งทำร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) ว่าการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในช่วง รายการสำหรับเด็กและเยาวชนทางฟรีทีวี 4 ช่อง พบว่าร้อยละ 94 เป็นโฆษณา ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสม แต่มีวิธีการสื่อสารที่โน้มน้าวใจได้สูง ทำให้เด็กๆ อยากซื้อ และอยากรับประทาน


          ในขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกลไกและมาตรการทางกฎหมายออกมา ควบคุมแล้ว แต่ก็ยังควบคุมด้านการบริโภคได้ยาก เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการเลือกซื้อรับประทาน


          "สิ่งที่ผู้ใหญ่ในวันนี้กำลังปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ให้กับเด็ก คือเรื่องความสุขในการบริโภค (Hedonic pleasure /data/content/26007/cms/e_cegkmuwz1269.jpgresponse) เพราะโดยธรรมชาติเด็กๆ จะพึงพอใจอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม สีสันสดใส รูปลักษณ์น่ากินอยู่แล้ว ยิ่งผู้เลี้ยงเด็กใช้อาหารในกลุ่มนี้เป็นแรงเสริมบวกให้เด็กเห็นคุณค่าด้วยการพาไปเลี้ยงวันเกิด สอบได้ดีก็พาไปกิน ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมค่านิยมให้เด็กโดยไม่รู้ตัว


          ขณะเดียวกันเรากลับไม่มีเทรนด์ให้อาหารปลอดสารพิษ หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับคนที่เรารักเพื่อส่งสุขภาพที่ดีให้แก่กัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงควรออกมาช่วยกันดูแลและเอาจริงกับกฎระเบียบที่มีได้แล้ว" รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว


          สื่อเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ในบ้านเราวันนี้ต้องช่วยกันดูแล โดยไม่ควร มองแค่มิติของโฆษณาอาหารอย่างเดียว แต่ควรจะต้องมองมิติของสุขภาพ และสุขภาวะในผู้บริโภคด้วย เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในบ้านเรากำลังตกเป็นเหยื่อของการบริโภคที่ไม่เกิดประโยชน์ และไม่มีคุณค่า


          เริ่มต้นจากการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะเป็นบันไดขั้นแรกสู่การสร้างสุขภาวะที่ดี และเด็กๆ กลุ่มนี้ก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงพร้อมเรียนรู้ พร้อมเรียนหนังสือและ เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code