โฆษณาผ่านสื่อวิทยุลวงผู้บริโภค ต้านมะเร็ง-เสริมเซ็กซ์
ระบุโฆษณาผ่านวิทยุมีการโอ้อวด คุณสมบัติผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ ความงาม แนะให้ผู้บริโภคคิดและแยกแยะให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับมีเดียมอนิเตอร์ ศึกษาโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และสร้างค่านิยมที่ไม่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการโฆษณาเกินจริง หลอกลวง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียหายและร้องเรียนจำนวนมาก โดยการศึกษาครั้งนี้ สุ่มเลือกสปอตวิทยุกระจายเสียง โดยการศึกษาได้สืบค้นโฆษณาที่เผยแพร่ซ้ำด้วยการใช้เว็บไซต์ google.co.th, youtube.com และ 4shared.com ระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค.56 โดยพบไฟล์เสียงสปอตวิทยุที่เผยแพร่ในช่วงปี 2555-2556 จำนวน 67 ชิ้นสปอต จาก 48 ผลิตภัณฑ์ ถอดไฟล์เสียงเพื่อวิเคราะห์ สามารถแยกได้เป็นผลิตภัณฑ์ยา และอาหาร ตามที่สามารถเปรียบเทียบจากพระราชบัญญัติต่างๆ
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์มิติด้านกฎหมาย พบว่า มีการใช้ข้อความต้องห้าม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ยา พบ ความผิดตาม พ.ร.บ.ยา 2510 หลายมาตรา ทั้งข้อความโอ้อวด เช่น รักษาหรือป้องกันโรค ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น แสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง เช่น ช่วยกระชับมดลูก คืนความสาว เป็นต้น และตรวจพบว่าโฆษณาในกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.ด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร พบว่าเกือบทั้งหมดนำเสนอข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ เช่น ดื่มแล้วได้ผลตั้งแต่ขวดแรก ช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอก ทำลายไขมัน เป็นต้น
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า สำหรับมิติด้านการใช้และผลิตซ้ำค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม เพศ พบว่ามักมีการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่แสดงสรรพคุณที่เป็นสำนวน สร้างค่านิยมในแบบต่างๆ และใช้ภาษาที่อวดอ้างสรรพคุณ เช่น “ฟิตกระชับหุ่นเฟิร์ม” , “อกโตเต่งตึง” เป็นต้น ภาครัฐจะต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย การออกเกณฑ์คุมโฆษณา ประชาชนยังต้องแยกแยะและรู้จักป้องกันสิทธิประโยชน์ของตนเองด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด