โครงข่ายรับมือภัยพิบัติ 5 ภูมินิเวศน์
สสส. เดินหน้าโครงข่ายรับมือภัยพิบัติ 5 ภูมินิเวศน์ หลังคลอด 65 หน่วยเคลื่อนที่เร็ว เล็งตั้ง “นครศรีธรรมราช” เป็นศูนย์เรียนรู้ภัยพิบัติ แนะรัฐต้องหนุนท้องถิ่นสร้างศักยภาพช่วยเหลือตัวเอง
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการลงพื้นที่การจัดการภัยพิบัติภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำทะเลสาบ จ.สงขลา ว่า ปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยโครงการพัฒนาระบบและโครงข่ายการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังสังคมพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นเครือข่ายในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติทั้งพื้นที่ตนเองและพื้นที่อื่นๆ โดย สสส.มีหน้าที่กระตุ้น หนุนเสริม เพื่อให้ชุมชนพัฒนาศักยภาพตนเองและทำให้เกิดการเรียนรู้
ทางด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธุ์ ผอ.สำนักสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จะแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 ภูมินิเวศน์ จะมีลักษณะภัยธรรมชาติต่างกัน เช่น ไฟป่า น้ำหลาก โคลนถล่ม พายุ ภัยแล้ง เป็นต้น ปัจจุบันมีเครือข่ายใน 4 จังหวัด 32 ตำบล สามารถพัฒนาอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติเบื้องต้นได้ 447 คน อาสาสมัครกลุ่มเยาวชน 148 คน อาสาสมัครหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 65 คน โดยจะเน้นแผน 3 ระยะ คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และระยะฟื้นฟู ทั้งนี้ มีระบบสื่อสารยามฉุกเฉิน ศูนย์วิทยุ ว.แดง จำนวน 15 ศูนย์ ประกอบด้วยลูกข่าย 212 สถานี ครอบคลุมทั้ง 4 จังหวัด โดยแต่ละพื้นที่สามารถจัดการตนเองได้และสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายได้
จากการติดตามพบว่า แต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการตนเองได้ คือ 1. มีการตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2.มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ เช่น ผ้าป่าข้าวสาร หรือ การหว่านข้าวในนาร้างเพื่อนำมาเป็นกองทุนข้าวสาร 3.การสร้างอาสาสมัครตั้งแต่มีความรู้ทั่วไปในการช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ถึงอาสาสมัครที่มีความสามารถเฉพาะทาง 4.การสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ ทำให้ในอนาคตภายใน 6 เดือนนี้ ศูนย์จัดการภัยพิบัติ จ.นครศรีธรรมราช จะเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านภัยพิบัติ ให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้นำแนวคิดไปปรับใช้เพื่อดูแลพื้นที่ตนเองและขยายเครือข่ายการจัดการด้านภัยพิบัติออกไป
“ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ โดยที่ผ่านมาไม่เคยมีใครคิดว่าประเทศไทยจะเกิดสึนามิ แผ่นดินไหว หรือน้ำจะท่วมในพื้นที่ราบสูงได้ แต่จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายอย่างมาก ทำให้ทุกคนโดยเฉพาะแต่ละท้องถิ่นจำเป็นต้องเตรียมตัว เพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ก่อนที่จะรอความช่วยเหลือจากส่วนกลางอย่างเดียว โดยภาครัฐจะต้องเปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นผู้หนุนเสริมให้แต่ละท้องถิ่นสร้างศักยภาพของตนเองได้” น.ส.ดวงพร กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์