โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง thaihealth


แฟ้มภาพ


จากนโยบายมีลูกเพื่อชาติสู่แนวทางปฏิบัติจริง ตามไปดูความคืบหน้า และบทเรียนในกลุ่มหญิงเจริญพันธุ์สถานประกอบการ


"สาวไทยแก้มแดง" คือ คำเรียกสั้นๆ ของ "โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามิน แสนวิเศษ" หนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วย การส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่าง มีคุณภาพ


เมื่อหนุ่ม-สาว วัยเจริญพันธุ์ปัจจุบัน แต่งงานกันช้า มีบุตรน้อยลง สังคมไทยจึงกำลังเกิดวาทกรรม "มีลูกเพื่อชาติ" พร้อมๆ กับที่ประเทศไทยยังเจอปัญหาการเกิดน้อยด้อยคุณภาพ โดยในปี 2558 พบอัตราการตายมารดาอยู่ที่ 20 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการตกเลือด มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กร้อยละ 39 ทารกคลอด ก่อนกำหนดร้อยละ 10.4 ทารกเสียชีวิตจากภาวะพิการแต่กำเนิดร้อยละ 7 ขณะที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างเดียวนาน 6 เดือนยังน้อยเพียง ร้อยละ 23.9


  ยุทธศาสตร์ของการส่งเสริมให้มีบุตรจึงเน้นเรื่องหลักใน 3 ประการ นั่นคือ1.การเพิ่มจำนวนการเกิด เพื่อทดแทนจำนวนประชากร โดย ส่งเสริมการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปี ที่มีความพร้อมและตั้งใจที่จะมีครรภ์ 2.การส่งเสริมความพร้อม มีการวางแผน และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร และ 3.ในกรณีที่ทารกเกิดมาอย่าง แข็งแรง ต้องส่งเสริมให้ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ก่อนมีบุตร ตั้งครรภ์ และหลังคลอด จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยมีลูก ปรับปรุงแก้ไขสิทธิลาคลอดเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร มาตรการทางภาษีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตร


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในงาน มอบรางวัล Best Practice สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงด้วยวิตามินแสนวิเศษ ว่า กรมอนามัยได้ดำเนินงานโครงการสาวไทยแก้มแดง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 และส่งเสริม ให้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปี ที่พร้อม ตั้งใจ และวางแผนจะมีลูก ได้รับการสนับสนุนให้มีโภชนาการที่ดี ด้วยการเสริมธาตุเหล็กและวิตามินโฟลิก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยระยะแรกดำเนินโครงการสาวไทยแก้มแดงผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อต่อยอดกระแสการรับรู้สู่การสร้างความตระหนัก สร้างทัศนคติที่ดีและ สร้างช่องทางออนไลน์ เพื่อให้หญิง วัยเจริญพันธ์ลงทะเบียนเพื่อรับธาตุเหล็กและวิตามินโฟลิก ในรูปแบบของวิตามิน เฟอร์โรโฟลิกผ่านเวปไซต์สาวไทย แก้มแดง


ในระยะที่ 2 ได้ส่งเสริมหญิงวัย เจริญพันธ์ในสถานประกอบการให้บริโภคผัก ผลไม้ และอาหารที่ครบโภชนาการ พร้อมเสริมด้วยธาตุเหล็กและโฟเลท โดยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผ่านสถานประกอบการ ซึ่งมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 19 แห่ง โดยมีหญิงวัยเจริญพันธ์ จำนวน 40,674 คน ที่รับมอบนโยบายและดำเนินกิจกรรมที่กำหนดไว้ภายใต้โครงการตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา


เสริมสุขภาพหญิงเจริญพันธุ์


พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ มองว่า ในสถานประกอบการมีหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีความพร้อมที่จะมีบุตร จึงนำนโยบายเข้าไปให้ความรู้กับสถานประกอบการ และมอบรางวัลให้กับสถานประกอบเพื่อเป็นต้นแบบซึ่งมีแนวทางการส่งเสริม มีบุตร ทั้งในมิติการบริโภคอาหารครบ 5 หมู่ ส่งเสริมให้บริโภคผัก การวางแผนครอบครัวและต่อจากนี้ไปจะมีการขยายเป้าหมายหญิงวัยเจริญพันธ์ให้ครอบคลุม เช่น หญิงวัยเจริญพันธ์ใน สถาน ประกอบการ โรงเรียน ชุมชน


"หญิงวัยเจริญพันธุ์ ถึงจะแต่งงานแล้วเขาก็ทำแต่งาน ยังไม่มีความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (Health Literacy) เราต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ เข้าใจ สามารถตัดสินใจที่จะมีบุตร จนถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากการเข้าถึงวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก ซึ่งบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าว


พิชญาภา พิมศร ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทเดลต้า อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ในโรงงานมีพนักงานหญิงประมาณร้อยละ 85 และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 7,000 คน อย่างไรก็ตามแม้จะมีความรู้ในสายวิชาชีพ แต่กลุ่มคนเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสได้รับความรู้ที่จะเตรียมตัวสำหรับการมีบุตร สถานประกอบการซึ่งเป็นสถานที่ที่พนักงานใช้เวลา 5วันต่อสัปดาห์ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะให้องค์ความรู้เหล่านี้


เธอ บอกว่า ที่โรงงานใช้ห้องพยาบาลเป็นหน่วยให้ความรู้ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด มีการใช้โอกาสวันสำคัญ อาทิ วันแม่ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เปิดนิทรรศการ โดยเชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอกทั้งรัฐและเอกชน


"เวลาพูดว่าโฟลิก โฟเลต แค่ชื่อเขาก็งงแล้วว่ากินได้ไหม เราก็ต้องบอกว่า กินได้ และพยายามทำชุดความรู้ว่าอาหารที่เหมาะกับการเตรียมตัวจะมีบุตรมีเมนูอะไรบ้าง อาจจะติดป้ายไว้ตรงทางเดิน ตรงโรงอาหาร ใช้โอกาสสำคัญประชาสัมพันธ์ไปยังหัวหน้างาน"


ละดาวรรณ ยศสูงเนิน ตัวแทนบริษัทเอชจีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การส่งเสริมสุขภาพพนักงานหญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะเชื่อมโยงกับโครงการ Happy Workplace และจะใช้หัวหน้างาน หัวหน้าแผนกเป็นคนบอกกล่าว อย่างวิตามินที่ได้รับการแจกจาย จะมีระบบเตือนกันให้รับประทานครบ ทั้ง 12 สัปดาห์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับแม่ นอกจากนี้ยังใช้กิจกรรมกีฬา ในตอนเย็น เพื่อเจาะกลุ้มเป้าหมายพนักงานหญิง เช่น ชมรมโยคะ ชมรม เต้นซุมบ้า ชมรมวิ่ง ฯลฯ เพื่อให้หนักงานได้ดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุม


การเตรียมความพร้อมของหญิงแก้มแดงที่อยากมีบุตรจึงไม่โดดเดี่ยว หากแต่มาจากหลายตัวช่วย ทั้งนโยบายภาครัฐ สถานประกอบการที่ทำงาน และวินัยในการใช้ชีวิตของว่าที่คุณแม่นั่นเอง

Shares:
QR Code :
QR Code