โครงการบ้านหลังเรียน เปิดศึกชิงเด็กสู่พื้นที่ดี
หวังลดภาวะเสี่ยงสำหรับเด็กและเยาวชน
ปัญหาเด็กติดเกม เด็กไปมั่วสุมกันก่อเหตุวิวาท ปัญหาอาชญากรรมชิงทรัพย์กับเด็ก ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาทางเพศที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันที่บ้านหรือหอพักของเพื่อนเพื่อดูสื่อลามกตามประสาวัยอยากรู้อยากลอง
ที่สำคัญที่สุดคือ นำไปสู่การติดสิ่งเสพติด!!!ดังนั้นการใช้เวลาไปกับเทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยงคั่นเวลาก่อนที่ผู้ปกครองจะดูแล นั่นจึงนับว่าเป็นดาบสองคม เพราะหากเด็กใช้ในเรื่องของการเรียนรู้ ก็จะเป็นการติดอาวุธทางปัญญา แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิด เช่น ในร้านเกม เด็กก็จะไปหมกมุ่นอยู่กับเกมทั้งบนโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องจ่ายทั้งเงินและใช้เวลาหมดไปกับกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อเหล่านั้นโดยไม่ได้เห็นโลกแห่งความเป็นจริง และยังพบว่าสื่อเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับการส่ง SMS ดูคลิปโป๊ ดูสื่อลามก ฯลฯ ด้วยเช่นกัน เป็นผลที่กระทบกับเด็กที่มาแรงที่สุดในปีนี้
ท้ายสุดนำมาซึ่งอนาคตของชาติที่ไม่มีศักยภาพ โอกาสที่เราจะสู้หรืออยู่ในสังคมโลกอย่างทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ก็คงจะลำบาก
“โครงการบ้านหลังเรียน” ที่ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้จัดการสถาบันรามจิตติ และหัวหน้าโครงการ Child Watch ได้ผลักดันให้พื้นที่ช่วงชิงตัวเด็กจากพื้นที่เสี่ยงจึงเกิดขึ้น
เพื่อหวังเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ลดภาวะความเสี่ยงสำหรับเด็กและเยาวชนในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน โดยใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“การวิจัยยืนยันชัดเจนแล้วว่า เด็ก 10-15% ของนักเรียนทั้งหมดที่หลังเลิกเรียนแล้วต้องกลับบ้านอยู่คนเดียวเป็นประจำ เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กนักเรียนทั้งหมดประมาณ 12 ล้านคน เท่ากับว่าจะมีเด็กที่ต้องโดดเดี่ยวหลังเลิกเรียนมากถึง 1.5-2 ล้านคน ขณะที่ในบางพื้นที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่พ่อแม่ต้องไปทำงานในนิคมฯ ตัวเลขนี้ก็จะยิ่งสูงถึง 20%”
โครงการดังกล่าวได้ริเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2551 โดยได้รับความร่วมมือจากการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ประจำจังหวัดนำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเชิญอาสาสมัครสอนนักเรียนทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ตามความสนใจของเด็ก เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเพลิดเพลินมากกว่าการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งได้ขยายผลในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เลย มหาสารคาม
ดร.อมรวิชช์ บอกด้วยความปลาบปลื้มอีกว่า เมื่อกศน.ได้นำร่องเปิดศึกสงครามชิงเด็กมาพื้นที่ดีๆ แล้ว ทางชุมชนหลายแห่งได้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี จึงได้นำต้นแบบไปดำเนินการบ้าง โดยใช้บ้านของผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนให้ลูกๆ หลานๆ ในละแวกนั้นสามารถมานั่งอ่านนิทาน หรือทำกิจกรรมดีๆ ได้
เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการดี ฝ่ายผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายก็ย่อมเห็นชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามสิ่งเสพติด(ป.ป.ส.) ก็สนับสนุนให้เกิดขึ้นใน 12 จังหวัดภาคอีสานให้มีการเปดศึกชิงเด็กมาพื้นที่ดีๆ ตามโครงการบ้านหลังเรียนด้วย
“ล่าสุดขณะนี้มีจังหวัดที่มีโครงการบ้านหลังเรียนทั่วประเทศแล้วกว่า 20 จังหวัด โดยเฉพาะที่หินสุดเห็นจะเป็น กทม. ที่ล่าสุดได้มีชุมชนตลิ่งชันได้ดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามติดตามถอดบทเรียนของโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่โดนใจเด็ก ถูกใจพ่อแม่ เหตุผลที่ทั้งฝ่ายผู้ปกครองและนักเรียนสนใจร่วมโครงการนี้ ฯลฯ เพื่อทำเป็นตำราสำหรับศึกษาและไปเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีนี้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงการดังกล่าว” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ดร.อมรวิชช์ แอบเผยตอนท้ายว่า สิ่งที่ดีใจที่สุดเห็นจะเป็นการที่ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ ได้เห็นความสำคัญในโครงการดังกล่าว โดยสนับสนุนโครงการนี้ในการถอดบทเรียนการถอดบทเรียนออกมาเพื่อขยายผลให้เกิดทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ก็เตรียมสนับสนุนโดยไปขยายผลสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยในปี 2554 จะมีบ้านหลังเรียนมากมายหลายองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)
ใช่ว่าจะให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นผู้เปิดพื้นที่บ้านหลังเรียน เปิดพื้นที่ให้อนาคตของชาติได้พักพิงทำกิจกรรมดีๆ ก่อนผู้ปกครองมารับเท่านั้น โรงเรียนก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญเช่นกัน เพราะขณะนี้ก็มีโรงเรียนหลายแห่งที่จัดกิจกรรมดีๆ ให้นักเรียนทำระหว่างช่วงที่รอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน แทนที่จะให้เด็กไปเดินเตร็ดเตร่ เที่ยวเล่นเรื่อยเปื่อย
อย่างไรแล้วพ่อแม่ก็ยังเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการอบรมสั่งสอนลูกอยู่ดี เพราะหน้าที่นี้จะถือว่าโยนให้ครูอาจารย์และโรงเรียนรับผิดชอบอย่างเดียวไม่ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 12-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร