แฮปปี้! ไม่มีวันหยุด คาถาควรจำ…ออฟฟิศไม่ใช่สภา

 

ดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทย ณ ปัจจุบัน แม้จะไม่ทำงาน หรือยังไม่มีเวลาที่จะ “อัพเดท” รวบรวมตัวเลขในสถานการณ์เวลานี้ แต่อาจสามารถสรุปได้ว่า…

ความขัดแย้งในสังคมไทยรอบใหม่กำลังก่อตัวขึ้นทีละหน่อย ค่อยๆ สะสมและค่อนข้างสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบทำให้ความสงบสุขเรียบร้อยในบ้านเมืองถูกปล้นกลางแดดไปอีกครั้ง อย่างน่ากังวลที่สุด

คำถามที่ไม่เคยมีคำตอบให้รู้สึกมั่นใจและพึงพอใจได้เลยผุดขึ้นอีกหน

คนไทยจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สามารถปรองดอง รู้รักสามัคคี…ได้หรือไม่ และอย่างไร??? รังสีอำมหิตที่เรียกว่า “ความขัดแย้งทางความคิด” ที่กำลังกำจายอยู่ในสังคมไทยวันนี้ จะปฏิเสธไม่ใส่ใจ หรือไม่สนใจคงยาก ตราบเท่าที่เรายังถือบัตรประชาชนคนไทย ฉะนั้น การรู้จักเรียนรู้หรือบริหารจัดการตนเองท่ามกลางความขัดแย้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการคิดต่าง เห็นต่าง รู้สึกต่างนั้นมีแนวโน้มจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อความสุขในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อแม่ลูก ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา หรือครอบครัวที่เรียกว่าเพื่อนร่วมงานผู้ใต้บังคับบัญชา หัวหน้างาน ผู้บริหารบริษัทและองค์กร

ความเป็นครอบครัวตามวิถีไทย ที่ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ และภริยาต้องให้เกียรติสามี อาจจะเป็นตัว “กด” ความขัดแย้งทางความคิดให้อยู่ในระดับที่สร้างความเสียหาย หรือเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกกระทั่งมองหน้ากันไม่ได้ เพราะความรักเป็นพื้นฐานหล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความอบอุ่นและสร้างความเข้าใจกันและกันได้อย่างดี

แต่ความขัดแย้งในองค์กรจากปัจจัยทางการเมืองนั้น ดูเหมือนว่า “ผู้บริหาร” จะเป็นคีย์แมน หรือหัวใจสำคัญที่จะลดอุณหภูมิความร้อนแรงหรือเพิ่มดีกรีความขัดอกขัดใจ อย่างปฏิเสธไม่รู้ไม่เกี่ยวไม่ได้ เพราะหากความขัดแย้งทางความคิดเกิดจากเม็ดงานในองค์กร หัวหน้างานสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการระดมสมองร่วมกันหาจุดลงตัวหรือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้ได้ชิ้นงานที่น่าพอใจ หรือมีประสิทธิภาพ โดยมีเครื่องมือในการทดลองและทดสอบถูกผิดของแต่ละคนหรือแต่ละฝ่าย

ทว่า..ความขัดแย้งที่มีเรื่องของ “สี” และมุมมองทางการเมืองเป็นปัจจัยนั้น นับว่าท้าทายทั้งวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างยิ่งเพราะปัญหานี้ความถูกผิด เป็นเรื่องความเชื่อ และความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ ไม่อาจจะมีเครื่องมือหรือใช้วิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ทราบ เหมือนคำกล่าวที่มักจะพูดในแวดวงการเมืองว่า “ไม่มีใบเสร็จ” ก็เอาผิดใครไม่ได้

ฉะนั้น..ในสถานการณ์ความร้อนแรงทางการเมืองที่สังคมไทยหนีไม่พ้น ตัดไม่ตายขายไม่ขาด การพยายามที่จะกำจัดความขัดแย้งเพื่อการดำรงอยู่ซึ่งความสุขไม่ว่าจะภายในครอบครัว หรือองค์กร หน่วยงานบริษัท ห้างร้าน ชุมชนต่างๆ เป็นสิ่งที่รู้ไว้ใช่แบกหาม

ทางเลือกของผู้บริหาร หรือเจ้าของบริษัทบางแห่งอาจจะติดป้าย “พื้นที่ปิดทางการเมือง” ไว้ภายในองค์กร เพื่อให้สถานที่ทำงานเป็นแฮปปี้เวิร์คเพลสตามเจตนารมณ์โดยปราศจากเงื่อนไข เหมือนวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา ติดป้ายไว้กลางวัดด้วยข้อความว่า “วัดไม่ใช่สภาฯ เวลามาทำบุญก็ไม่ควรคุยเรื่องการเมือง” เป็นการตัดปัญหา หรือเรียกว่ากดปัญหาไว้ก็แล้วแต่มุมมอง

แต่ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรสุขภาวะหรือแฮปปี้เวิร์คเพลสได้ดำเนินการอยู่เป็นนิจสินอยู่แล้ว นั่นคือ เดินตามสายกลางตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งมีผู้แปลและเรียบเรียงจากคำสอนบาลีสันสกฤตสรุปได้ 6 วิธีได้แก่

1.ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกันเราอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน

2.แลกเปลี่ยนสิ่งของ สิ่งที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน

3.เคารพกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน

4.การใช้วาจาแห่งความรักความเมตตา

5.การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อกันและกัน

6.การยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น การไม่บังคับข่มขูก่ให้ผู้อื่นคิดตามเรา และมีการตัดสินใจร่วมกัน

เชื่อได้ว่า แนวทางและหลักวิธีคิดเพื่อการสร้างองค์กรแห่งความสุขนั้น ตระหนักในหลักคำสั่งสอนข้างต้นได้ดีและชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่กระแสและสถานการณ์บ้านเมืองที่ทุกคนกำลังรู้สึกถึงสิ่งแวดล้อมไม่พึงปราถนาเกิดขึ้นอีกครั้งและส่งแรงกระทบมาสร้างความปั่นป่วนในอารมณ์และความรู้สึกแตกต่างมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับความสนใจในข่าวสารบ้านเมืองนั่นเองทำให้วิธีคิดและวิธีปฏิบัติตนที่เคยกระทำอยู่ทุกวันแบบมีสติ หรือเป็นเสมือนชีวิตประจำวัน “บิดเบี้ยว” ไปบ้าง

การท่องคาถา 6 ข้อดังกล่าวให้ขึ้นใจ เพื่อเป็นการเตือนใจอีกคำรบหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่ควรจะร่วมมือร่วมใจกัน “ลองดู” เพื่อคลี่คลายความแตกต่างทางความคิด หรือแยกแยะความขัดแย้งออกไปจากชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อองค์กร หรือส่งผลกระทบต่อประโยชน์โดยรวมของครอบครัวที่เรียกว่า องค์กรแห่งความสุข

ขอเพียงถามตัวเองว่า ทุกคนคือเพื่อน และเพื่อทุกคนได้ช่วยกันสร้างงาน จนสร้างเงิน สร้างมูลค่าทางชีวิตให้ดำรงอยู่ได้อย่างสุขสบายใช่หรือเปล่า? แล้วเราก็จะพบคำตอบได้ว่า .. สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเป็นภัยจากความขัดแย้งทางการเมืองในวันนี้พรุ่งนี้เราสมควรจะปล่อยให้มัน “ฆ่า” ความสงบสุขของเราจนกู่ไม่กลับกระนั้นหรือ?

การยอมรับในความต่าง แต่ไม่ยอมให้ความต่างทำลายความสุขนั้น ต้องจัดการเอาให้อยู่ เพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนตลอดไป

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. “เป็นประเด็นร้อนที่น่าสนใจ แต่ผมเชื่อว่าองค์กรแห่งความสุข หรือบริษัทที่ใช้หลักแฮปปี้เวิร์คเพลส มีวิธีการบริหารจัดการปัญหาความขัดแย้งทางความคิดทางการเมือง ภายในองค์กรได้ เริ่มจากหลักคิดว่า เราเป็นครอบครัวเดียวกัน หากปล่อยให้ความเห็นความรู้สึก ความชอบไม่ชอบส่วนตัวมาอยู่ตรงกลางระหว่างการเป็นสมาชิกภายในครอบครัวเดียวกัน ย่อมจะมีผลกระทบตามมา ดังนั้น หลักคือทำงานร่วมกัน อะไรที่จะทำให้งานมีปัญหา เราต้องช่วยกันขจัด”

ผมไม่แน่ใจว่า แต่ละบริษัท จะมีกฏกติกาหรือเปล่าว่า ไม่คุยเรื่องการเมืองในที่ทำงาน แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้บริหารองค์กรจะมีมติในการบริหารคนที่มีความหลากหลาย ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละแห่ง องค์กรที่มีความเข้มแข็ง เป้าหมายชัดย่อมมีประสบการณ์ในการควบคุมมิให้ความขัดแย้งภายนอกมากระทบเป็นความขัดแย้งภายใน

แฮปปี้ไมล์ด หรือการมีจิตใจที่มีความสุข จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน พวกเรารู้กันอยู่ผุ้บริหารหรือพนักงานก็มีหน้าที่ที่จะหาทางให้ทุกคนมีความสุขอยู่แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“เรามีวิถีแบบไทยๆ เพื่อนอาจจะคิดต่างแต่เราก็อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ทำงานร่วมกันมาฝ่าฟันอุปสรรคช่วงวิกฤตน้ำท่วมมา มุมบวกเหล่านี้จะสลายความขัดแย้งได้ เพราะเป้าหมายของเราชัดเจนคือการทำงานอย่างมีความสุขนั่นเอง”

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code