แฮปปี้ ‘วาเลนไทน์ เดย์’ แด่ ‘รักแท้’ ที่ปราศจากเงื่อนไข
ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา สังคมไทยยังคงวิตกกังวลกับ “วันวาเลนไทน์” ว่าจะกลายเป็น “วันเสียตัว” ของคู่รักวัยรุ่น ที่เผลอกายเผลอใจไปแสดงความรักด้วยการมีเพศสัมพันธ์ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขของ “ท้องวัยเรียน” หรือ “แม่วัยรุ่น” เพิ่มขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่
ทว่าต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา คงต้องย้อนกลับไปที่ ความรักความอบอุ่นจากครอบครัว จุดเริ่มต้นในสถาบันที่เล็กที่สุดในสังคม แต่เป็นรากฐานที่มีความสำคัญยิ่งในทุกมิติ
สายใยรักในครอบครัว ภูมิคุ้มกันแรกของชีวิต
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ในฐานะผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. ชี้ถึงการสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวว่า เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันก้าวแรกของชีวิตต่อเด็กที่มีความสำคัญมาก
“เวลาพูดถึงสายใยรักในครอบครัว เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นสายใยความรักระหว่าง พ่อ แม่ และลูก ซึ่งเป็นความรักบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากใจจริง มีความเข้าใจ ความอบอุ่น และเอื้ออาทรต่อกัน ที่สำคัญคือมีความผูกพันเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้า จึงเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรู้สึกที่ดี และดำเนินเรื่อยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 9 เดือนในท้อง จนกระทั่งทารกน้อยลืมตาขึ้นมาดูโลก
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่คนหนึ่งเลี้ยงลูก ย่อมผ่านทุกข์-สุข ร้อน-หนาว ข้อขัดแย้ง และเรื่องขัดใจ แต่เมื่อผ่านแล้ว ความรักที่ยังคงอยู่ จะเป็นความรักบนความพร้อมที่จะเดินไปบนทางเรียบและขรุขระ ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีความผิดพลาด มีปัญหาเกิดขึ้น ความรักในลักษณะนี้ จะเป็นความรักที่พร้อมจะให้อภัยซึ่งกันและกัน”
ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากรักวัยรุ่นที่เปราะบางกว่า เมื่อเจอกับปัญหาข้อขัดแย้งแล้วเกิดความไม่เข้าใจกัน จึงเลิกรากันไปง่าย
มีสติในรัก : ก่อปัญญา แก้ปัญหา
ไม่มีความรักใด ไร้ก้อนกรวดบนเส้นทางเดิน ความรักในครอบครัวก็เช่นกัน ในยามมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นมาก็ตาม คุณหมอให้คำแนะนำว่า ไม่ควรใช้อารมณ์นำหน้าเหตุผล และขอให้คิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นคือ สภาวะที่หล่อหลอมให้ทุกคนช่วยกันแก้ไข
“พ่อแม่จะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมสติอารมณ์ของตัวเอง เวลาที่คุมสติได้แล้ว ปัญญาก็จะเกิด ทีนี้เราจะมีวิธีการในเชิงบวกเข้ามาจัดการกับสิ่งไม่เหมาะสมนั้นๆ ได้ ยกตัวอย่างในการเลี้ยงลูกที่ยังเล็ก เราอาจต้องมีการตั้งกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้ร่วมกัน เช่น ถ้าจะพาเขาไปห้างสรรพสินค้า ก็ต้องคุยกันไปก่อนว่า ถ้าเขาประพฤติตัวไม่เหมาะสม วิ่งเล่นไปทั่ว หรืออาละวาดอยากได้ของเล่น เราจะพาเขากลับบ้า นหรือครั้งหน้าจะไม่พาไปด้วยแล้ว แล้วถ้าเขาผิดกติกาขึ้นมา ก็ปฏิบัติตามกฎที่ตั้งไว้ เป็นกฎที่ไม่ยากเกินไปที่จะทำร่วมกัน และเหมาะกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก
ต้องบอกว่า พ่อแม่ต้องไม่ตามใจลูกผิดๆ ความรักของพ่อแม่ที่มีล้นเกินก็ไม่ดี คำว่ามากเกินนี้ หมายถึงการเตรียมพร้อมให้ลูกจนหมด จนเขาผิดหวังและทำอะไรเองไม่เป็น ซึ่งในชีวิตของคนคนหนึ่ง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจอกับความผิดหวัง”
นอกจากนี้ หากสังเกตครอบครัวที่พ่อหรือแม่สู้ชีวิตดีๆ แล้ว จะพบว่าความรักที่สู้เพื่อลูกนี้ จะสื่อและสะท้อนไปถึงตัวเด็กได้ เด็กที่เกิดมาในครอบครัวลักษณะนี้ จะเป็นเด็กที่มีจิตสำนึก เพราะคำว่า “สู้ชีวิต” สื่อได้ว่า เขาจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยกัน ทำให้เด็กมีความอดทน มีพลัง มีทัศนคติที่ดีในการก้าวข้ามปัญหา
เป็นเพื่อนคู่ใจลูก พ่อแม่ก็ทำได้
จากนานาปัญหาของวัยรุ่นที่มีข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคปัจจุบันพบว่า ที่มาของปัญหานั้น มาจากการปรึกษากันเองของวัยรุ่น ซึ่งมีความไม่รู้เท่าๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ปัญหาจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่รู้ ซึ่งเป็นอันตราย
‘หลักอาบน้ำร้อนมาก่อน’ คืออีกหนึ่งหลักสำคัญที่ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวอยากฝากให้พ่อแม่ใช้ประโยชน์จากวลีนี้ให้เป็น และนำไปเลี้ยงดูลูกของตน
“ถามว่าทำไมวัยรุ่นถึงไปคุยและปรึกษากันเอง จุดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องหัดสังเกตด้วย มองให้ดีเราจะเห็นว่า บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อน เวลาที่เขาคุยกัน เขาไม่ได้โดนจ้องจับผิด จึงทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เกิดความไว้วางใจที่จะอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จุดเด่นนี้เองที่ผู้ใหญ่ต้องดึงออกมา และปรับตัวเองให้มีคุณลักษณะที่ทำให้ลูกวางใจ
ลองเช็คดูว่าสัมพันธภาพกับลูกยังดีอยู่หรือไม่ เวลาที่มีให้กันเป็นช่วงเวลาดีๆ บนพื้นฐานของมิตรไมตรีหรือเปล่า แล้วมีเวลาให้กับเขามากแค่ไหน ไม่ใช่ลูกมีอะไรมาเล่าให้ฟัง พอไม่เห็นด้วยแล้วว่ากล่าวลูก หรือมองเขาอย่างตำหนิติเตียน ถ้าทำตัวให้เป็นเพื่อนคู่ใจของเขาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการใช้กุศโลบายแนะให้เขารู้จักคิด”
ฉะนั้น เวลาที่วัยรุ่นเล่าอะไรให้ฟัง ผู้ใหญ่ควรจะต้องเล่นบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงที่ดี เปรียบเสมือนการสร้างนั่งร้านในการสร้างบ้าน ที่ต้องสร้างตั้งแต่พื้นแล้วต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ โดย คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อพ่อแม่ทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้เกิด “ทักษะการรู้คิด” ในตัวเด็ก เท่ากับเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้เขา
ทีนี้ต่อให้มีอีกกี่วาเลนไทน์ หรือมีสถานการณ์ที่จะนำพาวัยรุ่นไปสู่ปัญหา เขาย่อมมีเกราะป้องกันตัวเองออกจากปัญหาได้
เรื่องโดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th