‘แอลกอฮอล์’ ทำไทยสูญ 1.5 แสนล้านต่อปี

ผลกระทบแอลกอฮอล์ ทำไทยสูญ 1.5 แสนล้านต่อปี สธ.ระดมผู้เกี่ยวข้องรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ตั้งเป้าบรรจุนโยบายแอลกอฮอล์ เป็นวาระแห่งชาติและท้องถิ่น

'แอลกอฮอล์' ทำไทยสูญ 1.5 แสนล้านต่อปี

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.53 เรื่องแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการดำเนินงานและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และติดตามผล ตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ รวมถึงการพัฒนาแผนปฏิบัติการนั้น

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว และในวันนี้เป็นโอกาสอันดีในการนำร่างแผนปฏิบัติการฯดังกล่าว มารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาชน ชมรม และสมาคมต่างๆ กว่า 200 คน และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการฯทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 ภูมิภาคคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งในวันนี้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคกลางเป็นภาคแรก และเมื่อครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว จะได้นำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวแก่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ในเดือนธันวาคมนี้ต่อไป

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคดำเนินโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เพื่อแปลงจากแผนยุทธศาสตร์ไปสู่แผนปฏิบัติการ แล้วถ่ายทอดลงสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปฏิบัติ อันจะเป็นการควบคุมปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศที่มีเป้าหมายเชิงกลไก 4 ประการคือ

1.ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของสังคม 2.ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมความชุกของผู้บริโภค 3.ลดความเสี่ยงจากการบริโภค ทั้งมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภคและพฤติกรรมหลังการบริโภค และ 4.จำกัดและควบคุมความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค ดังคำประกาศความมุ่งมั่นว่า “การควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวาระแห่งชาติและวาระแห่งท้องถิ่น”

“ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ปัญหาสุขภาพและสังคมที่เกิดหรือมีความสัมพันธ์กับเรื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย มีความรุนแรงมากกว่าในต่างประเทศ เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร การทำร้ายร่างกาย การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การก่ออาชญากรรม ภาวะหนี้สิน และการว่างงาน เป็นต้น จากข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพลำดับที่ 1 โดยก่อเกิดภาระโรค คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของภาระโรคทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติอย่างชัดเจนผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 1.51 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.98 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติ ซึ่งสูงกว่าผลประโยชน์ที่สังคมได้รับในรูปแบบของภาษี” นพ.สมาน กล่าว

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code