‘แหล่งน้ำแห่งพระเมตตา’ สู่ชุมชนอบต.แว้ง
ที่มา : เว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
บันทึกข่าวเหตุการณ์อุทกภัยแต่ละครั้ง รวมทั้งเหตุรอบล่าสุดที่ผ่านมาช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2559 กับกรณี 12 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ ทั้งชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล จากปริมาณฝนตกหนักและปริมาณน้ำที่มากกว่าทุกปีได้สร้างความเสียหายอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้
หากแต่ข่าวในมิติการทบทวนและการหาสาเหตุในเชิงการจัดการสิ่งแวดล้อมกลับยังมีไม่มากนัก บางจังหวัด อาทิ ตรังช่วงเกิดเหตุ นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นอกจากจะได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วนแล้ว ยังได้กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำตรัง ที่รุนแรงในครั้งนี้ว่าส่วนหนึ่งเกิดมาจากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด หลังจากนี้ได้มีการจัดทำโครงการแก้มลิง และขุดลอกลำคลอง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ครั้งนี้กลับมีมวลน้ำจาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ไหลลงสู่แม่น้ำตรังเกือบ 100% จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ตรัง อย่างรุนแรง
เพื่อไม่ให้เป็นการมองข้ามผ่านปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ครั้งนี้จะขอหยิบบางพื้นที่โมเดลที่มีการจัดการน้ำและวางเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมไว้อย่างเห็นผล โดยเฉพาะในจ.นราธิวาส ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ให้ความสำคัญและยกให้เป็นพื้นที่ถอดต้นแบบ ในเรื่องแหล่งน้ำคือโมเดล “ฝายทดน้ำบ้านกรือซออันเนื่องมากจากพระราชดำริ”
จากหนังสือชื่อ “วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : จัดการน้ำ” ซึ่งจัดทำโดย เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ของ สสส. “ยามกูดิง สารียอ” รองนายกองค์กการบริหารส่วนตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส ได้เล่าไว้ว่า เมื่อ 30 ปีก่อนชาวบ้านที่แว้งมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ทางผู้ใหญ่บ้านในเวลานั้นจึงติดต่อไปที่เกษตรจังหวัดเพื่อขอประปาภูเขา ซึ่งก็พอใช้สำหรับบ้านกรือซอ หมู่ 4 ทั้งหมู่บ้าน และบ้านเจ๊ะเหม หมู่ที่ 3 อีกครี่งหมู่บ้าน แต่ต่อมาภายหลังกลับพบว่า จำนวนประชากรเยอะขึ้น น้ำที่เคยพอใช้ก็เริ่มไม่พอ จุดเริ่มต้นของปัญหาจึงเริ่มขึ้น
ยามกูดิง เล่าต่ออีกว่า จนกระทั่งตัดสินใจเริ่มติดต่อกับชลประทานจังหวัดว่าพอมีทางช่วยเหลือหรือไม่ พอดีในช่วงนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ยามกูดิงเลยลองหาหนทางเพื่อยื่นหนังสือถวายฎีกาแด่พระราชินี เพื่อให้รับทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
“ผมขึ้นไปรอรับเสด็จพร้อมผู้ใหญ่บ้านจ๊ะเหม เดินไปเดินมาอยู่ครึ่งวัน ทางเจ้าหน้าที่เขาถามว่ามาทำอะไรผมบอกว่าจะถวายฎีกาสมเด็จพระราชินี เขาก็เอาหนังสือไปมอบให้คุณสหัส บุญญาภิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว บอกว่าผมจะขอทำฝายตรงนี้ คุณสหัสดูแล้วบอกว่าไม่ได้เพราะติดเขตป่าสงวน ผมก็ยืนยันกลับว่าไม่ติดเพราะผมขึ้นไปดูแล้ว ปรากฎว่าไม่ติดจริงๆ หลังจากนั้นผมติดตามเรื่องตลอด ก็ใช้เวลาประมาณปีหนึ่งจึงก่อสร้างเสร็จ” ยามกูดิง เล่าอย่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ถึงวันนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเรื่องแหล่งน้ำ อย่างแรกคือ ชาวบ้านทั้งหมู่ 3 และ 4 ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน ส่วนที่สอง คือพื้นที่ตรงส่วนที่เคยแห้งแล้งขาดแหล่งน้ำเริ่มอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จากแต่ก่อนที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น แต่ทุกวันนี้กลับเขียวขจี ส่วนที่สามคือเกิดพื้นที่ท่องเที่วแห่งใหม่ ซึ่งคนไม่เคยนิยมเข้าไป อาทิ น้ำตกกรือซอ น้ำตกบีแด ฝายโต๊ะบีแด ดูชงบาลา
ถึงวันนี้ หากพูดถึงการบริหารจัดการแหล่งน้ำอีกหนึ่ง คือ พรุแม่ตะแคง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่ในอบต.แว้ง เช่นกัน ที่นี่มีบรรยากาศร่มรื่น กว่า 50 ไร่ โดยกรมชลประทานเข้าขุดพื้นที่เพื่อใช้เป็นบ่อกักเก็บน้ำประมาณ 30 ไร่ ทำให้ประชาชนมีน้ำใช้เต็มที่ โดยเฉพาะในยามหน้าแล้งที้น้ำพรุแม่ตะแคงไม่เคยเหือดแห้ง
เพราะน้ำคือทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญต่อทุกชีวิตและชุมชน น้ำเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามาถควบคุมได้บางปีฝนแล้ง จนไม่สามารถแบ่งปันกันได้อย่างทั่วถึง ส่วนบางปีฝนตกชุก และดินโคลนถล่มจนไม่อาจไม่อาจควบคุมได้ ความรับผิดชอบของชุมชนที่จะตระหนักปัญหาเรื่องน้ำร่วมกัน และนำมาซึ่งแนวทางการบริหาร จัดการน้ำและอนุรักษ์ต้นน้ำอย่างเป็นระบบเท่านั้นจึงจะเป็นหนทางที่ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภคได้อย่างปกติสุขสืบไป