“แม่หล่าย” หมู่บ้านตัวอย่างพึ่งพาตนเอง
นำพลังงานทดแทนสร้างวิถีพอเพียง
จากปัญหาวิกฤติการณ์ด้านพลังงานเมื่อปี 2550 ทำให้หน่วยงานภาครัฐหันมาศึกษาเรื่องของพลังงานทดแทนมากขึ้น รวมไปถึงภาคประชาชนเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องของพลังงานทางเลือกไม่น้อยไปกว่ากัน
ชาวบ้านในตำบลแม่หล่าย อ.เมือง จ.แพร่ ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของพลังงานทดแทนจึงได้เข้าร่วมใน “โครงการจัดทำแผนพลังงาน 80 ชุมชนเพื่อสนองพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมี เทศบาลแม่หล่าย, สำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 9 (พิษณุโลก), สำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ ร่วมเป็นที่ปรึกษา โดยได้บูรณาการความรู้จากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนา “ยุทธศาสตร์พลังงานระดับชุมชน” เพื่อให้ชุมชนได้มีความรู้ความเข้าใจ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเกิดความยั่งยืนขึ้นในชุมชน ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ จึงได้จัดทำ “โครงการวิจัยการพัฒนาพลังงานทดแทนระดับชุมชน ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมือง จังหวัดแพร่” ขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้านการจัดการพลังงานของชุมชน แสวงหาพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม และประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในท้องถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากการศึกษาวิจัยการใช้พลังงานในชุมชนแม่หล่าย พบว่า พลังงานที่ชาวบ้านต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ พลังงานไฟฟ้า พลังงานก๊าซหุงต้ม และพลังงานเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนเมือง พลังงานไฟฟ้าและก๊าซหุงได้มีบทบาทที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตที่ต้องแข่งขันกับเวลา คณะผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเรื่อง “พลังงานเชื้อเพลิง” โดยการพัฒนา “เตาชีวมวล” และ “เตาเผาถ่าน” ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับชาวบ้าน
นายประกิตต์ โกะสูงเนิน อาจารย์คณะพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ฯ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเรื่องของเตาเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการชุมชน ศึกษาศักยภาพของชีวมวลหรือวัสดุที่มีในท้องถิ่นเพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการทำงาน
“สำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 9 จะทำหน้าเป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ ส่วนเทคโนโลยีต่างๆ จะได้รับการพัฒนาโดยศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ โดยมีทีมงานของเทศบาลแม่หล่าย ผู้นำชุมชน และชาวบ้านทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน โดยสร้างให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้พลังงาน ที่เห็นได้ชัดก็คือลดรายจ่าย เพราะเมื่อชาวบ้านใช้พลังงานทดแทน เงินในกระเป๋าก็จะรั่วไหลออกไปน้อยลง สิ่งที่ได้มากกว่าความประหยัดจากการหันกลับมาใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมนั้นจะทำวิถีชีวิตและความเร่งรีบในครอบครัวน้อยลง มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครอบครัวมากขึ้น ซึ่งการกลับมาใช้เศษไม้เศษฟืนสิ่งที่จะตามมาก็คือทำให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนกลับมาดีขึ้น เพราะมีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน” อาจารย์ประกิตต์ ระบุ
นายบรรจง ยัพวัฒนา นายกเทศมนตรีแม่หล่าย อ.เมือง จ.แพร่ กล่าวว่า จากวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้ทางคณะผู้บริหารของเทศบาลฯ เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลแม่หล่าย จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การลดใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิง
“ทางเทศบาลฯ มีการจัดการประกวดหมู่บ้านตัวอย่างลดใช้พลังงาน ซึ่งจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานชนิดต่างๆ มีความรู้และความเข้าใจในใช้พลังงานที่ถูกต้อง โดยหันมาใช้พลังงานทดแทนซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ สิ่งสำคัญก็คือชาวบ้านก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่บนวิถีของความพอเพียง เพราะทุกโครงการที่ดำเนินการไปนั้นเกิดขึ้นจากความคิดและความต้องการของคนในชุมชนเอง” นายบรรยงระบุ
นายทองอินทร์ แก้วภา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแม่หล่าย, นางบุผา อินกันยา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านบุญเจริญ และ นางสีพูล แก้วเขียว ประธาน อสม.บ้านหมู่ 5 บ้านเด่นเจริญ แกนนำชาวบ้านด้านพลังงานทดแทนตำบลแม่หล่าย กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านมีความต้องการใช้ถ่านไม้เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มและประหยัดค่าใช้จ่าย “เตาเผาถ่าน 200 ลิตร” และ “เตาชีวมวล” จึงเข้ามาตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
“ถ่านที่เราเผาเองนั้นมีประโยชน์คือได้น้ำส้มควันไม้ นำไปใช้ไล่แมลงในสวน ถ่านที่ได้ก็เป็นถ่านที่ปลอดสารพิษ ไม่ต้องใช้ไม้ฟืนขนาดใหญ่ เศษกิ่งไม้อะไรก็นำมาเผาได้” นายทองอินทร์กล่าว
“เตาเผาถ่านทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้นในชุมชน ชาวบ้านที่ไม่มีเตาก็นำไม้ฟืนเศษกิ่งไม้มาแลกถ่าน คนที่มีเตาก็ไม่ต้องไปหาไม้ และยังได้น้ำส้มควันไม้ไปขายได้อีก” นางบุผากล่าว
“เตาชีวมวลสามารถใช้เศษไม้ ขี้เลื่อย แกลบแล้วแต่ชุมชน ซึ่งเป็นเตาที่ให้พลังงานความร้อนได้นานกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับเตาธรรมดา เสียเวลาจุดไฟนิดหน่อยแต่ประหยัดเชื้อฟืนได้มาก ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนได้จำนวนมาก” นางสีพูลกล่าวถึงข้อดีของเตาชีวมวล
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า การพัฒนาพลังงานทางเลือกนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้ชุมชนสามารถดำรงชีวิตในวิถีแห่งความพอเพียงได้ และมีทางเลือกอื่นๆ ในการทำให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงาน
“แนวทางของ สสส. ในการสนับสนุนด้านพลังงานทางเลือกหรือทดแทน เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะดึงนักวิชาการที่ทำงานเรื่องพลังงานทดแทนต่างๆ ให้หันกลับมาทำงานร่วมกับชุมชน พยายามที่จะให้นักวิชาการจับมือกับเครือข่ายภาคีในท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสามารถที่จะนำไปใช้ได้จริง สามารถที่จะดูแลได้โดยด้วยตัวของชาวบ้านเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในชุมชน ” นางงามจิตต์กล่าวสรุป
ที่มา : สำนักสนับสนุนและโครงการเปิดรับทั่วไป สสส.
update 25-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์