‘แฟมิลี่ ไทม์’ ความสุขของลูก
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
หัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูชีวิตน้อยๆ นั้น อยู่ที่การใช้เวลาด้วยกันอย่างมีคุณภาพมากกว่า
ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและ วัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อคิดแก่พ่อแม่ยุคใหม่ว่า การใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่สมัยนี้อาจหลง ลืมไป เราอาจสรรหาของเล่นเสริมพัฒนาการที่ดี ที่สุดให้ลูกได้สารพัด เปิด ยูทูบ ให้ลูกฝึกภาษาอังกฤษ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องสอน สักคำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนเวลาคุณภาพที่พ่อแม่มีให้กับลูกได้เลย
"เวลาคุณภาพ คือการที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ใช้เวลากับบุตรหลานอย่างเต็มที่ ให้พวกเขารู้สึกมีตัวตน และมีความสำคัญ บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักคิดว่า เด็กๆ เล่นเองได้ ไม่จำเป็นที่เราต้องให้เวลาอะไร แค่หาข้าวให้กิน อาบน้ำแต่งตัวให้ก็พอแล้ว แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังคงต้องพึ่งพิงพ่อแม่ผู้ปกครองในการดำรงชีวิต พวกเขาจำเป็นต้องรู้ว่าพวกเขามีความสำคัญ เพราะความรู้สึกนี้จะเป็นพื้นฐานของการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งจะทำให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข นอกจากนี้ การใช้เวลาร่วมกัน ยังทำให้พ่อแม่ได้เรียนรู้พฤติกรรม จุดอ่อน จุดแข็งของลูก เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้ อีกด้วย" ผศ.พญ.ปราณีกล่าว
สำหรับการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในครอบครัวนั้น ผศ.พญ.ปราณีแนะนำว่า กิจกรรมที่ใช้เวลาร่วมกันได้ เช่น ช่วยกันเตรียมอาหาร รับประทานอาหารพร้อมกัน พูดคุยมองหน้ากันจริงๆ แทนการมองหน้าจอโทรศัพท์ สอนการบ้านลูก เล่านิทานให้ลูกฟัง ออกไปเดินเล่นรอบๆ หมู่บ้านตอนเย็นๆ ด้วยกัน หรือในวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจมีสักวันหนึ่งที่ไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมได้
"อีกสิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ เมื่อใช้เวลาร่วมกัน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็น บ่อยครั้งเมื่อพ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกๆ ก็อดไม่ได้ที่จะตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ หรือคอยตามแก้สิ่งที่ลูกทำอยู่ตลอดเวลา แทนที่เด็กๆ จะรู้สึกว่าพวกเขาได้รับความรักความเข้าใจ มีความสำคัญ กลายเป็นพวกเขารู้สึกไม่มีค่า ทำอะไรก็ผิด อย่างนี้ถือว่าการใช้เวลาด้วยกันไม่เป็น ผลสำเร็จ บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ควรวางใจให้นิ่ง และปล่อยให้ลูกลองผิดลอง ถูกเองบ้าง รับฟังสิ่งที่ลูกพูดจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพียงผ่านๆ หรือฟัง เพื่อคอยจะสอนอยู่ตลอดเวลา จริงอยู่หน้าที่ของพ่อแม่คือการอบรมสั่งสอน แต่หากคุณไม่มีสายสัมพันธ์ที่ดี อันเกิดจากการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกันแล้ว สิ่งที่คุณสอนก็อาจไม่เข้าไปถึงใจของลูกได้เลย" ผศ.พญ.ปราณีกล่าว เวลาคุณภาพ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ นำมาซึ่งความสุข และสุขภาพจิตที่ดีของลูก