แพธ ดันศธ.เปิดเพศศึกษาภาคบังคับ
ดึงวัยรุ่นร่วมกิจกรรมรับวาเลนไทน์ หวังลดอัตราการเสียตัว
องค์กรรณรงค์ด้านเพศศึกษา เบี่ยงกระแสซ้ำซากวัยรุ่นเสียตัววันวาเลนไทน์ จัดกิจกรรม "sex education" นัดพบเยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ ชูประเด็นหลักผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุวิชาเพศศึกษาเป็นหลักสูตรบังคับในโรงเรียน
น.ส.อุษาสินี ริ้วทอง ผู้ประสานงานโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (แพธ) เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงนี้ องค์การแพธได้จัดกิจกรรม "วันวาเลนไทน์วัย x ต้องมี sex education" ในวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ณ โรงภาพยนตร์ลิโด้ เวลา 14.00 น. โดยจะมีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาอย่างสร้างสรรค์ จุดมุ่งหมายหลักของการจัดงานครั้งนี้คือ การรวมตัวแสดงพลังของกลุ่มเยาวชนที่เสนอให้กระทรวงศึกษาฯ บรรจุวิชาเพศศึกษาอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับทุกระดับชั้นอย่างเป็นระบบและจริงจังมากกว่าปัจจุบัน
"ก่อนถึงเทศกาลวาเลนไทน์ทุกปี จะมีสำนักโพลหลายแห่งออกมาเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นเกี่ยวกับเพศ มีแต่เรื่องวัยรุ่นเสียตัวในวันวาเลนไทน์เป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นกระแสซ้ำซาก มุ่งเสนอประเด็นหวือหวาแต่ไม่มีแนวทางแก้ไข ดังนั้นองค์การแพธจึงอยากจะใช้โอกาสวันวาเลนไทน์เบี่ยงกระแสจับผิดวัยรุ่น มาเป็นการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเสนอมุมมองความคิดเห็นเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์" น.ส.อุษาสินีกล่าว
เจ้าหน้าที่จากองค์กรรณรงค์ด้านเพศศึกษา กล่าวว่า เรื่องเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใหญ่คิดแทนเยาวชนฝ่ายเดียว แต่ควรเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการบอกสังคมว่า เรียนเพศศึกษาแล้วชอบไหม มีอะไรที่โดนใจ อยากให้การเรียนการสอนเพศศึกษาในสังคมไทยเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาวิชาเพศศึกษาเป็นเพียงเนื้อหาย่อยในหลักสูตรกลุ่มสุขศึกษา ซึ่งสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของร่างกายและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น แต่จริงๆ แล้วเรื่องเพศศึกษามีหลากหลายมิติที่ถูกมองข้าม เช่น การเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนเพศตรงข้ามอย่างถูกต้องเหมาะสม เรื่องสัมพันธ ภาพทางเพศที่รู้จักความรับผิดชอบและปลอดภัย เป็นต้น
น.ส.อุษาสินี กล่าวอีกว่า อุปสรรคสำคัญที่โรงเรียนไม่อาจจัดการเรียนรู้เพศศึกษาที่รอบด้านคือ ครูขาดองค์ความรู้และทักษะการสอน และผู้บริหารโรงเรียนมีทัศนคติว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก และทิศทางการศึกษาของไทยมุ่งให้โรงเรียนเน้นความเป็นเลิศทางด้านวิชาการมากกว่าทักษะการดำเนินชีวิต จากการดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ พบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองไม่เข้าร่วมโครงการกับเราเพราะเน้นสอนวิชาการเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่โรงเรียนขนาดกลางและเล็กนอกตัวเมืองกลับให้ความสนใจมากกว่า
องค์การแพธ เปิดเว็บไซต์ให้เยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นที่ www.teenpath.net สำรวจทัศนะเรื่องการบรรจุวิชาเพศศึกษาเป็นหลักสูตรบังคับ โดยมีผู้แสดงความเห็นด้วย 83% และไม่เห็นด้วย 17%
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 28-01-51