แพทย์ไทยสุดเจ๋งผลิต “ผิวหนังสังเคราะห์”

ชี้ช่วยผู้ป่วยถูกไฟไหม้ประหยัด 10 เท่า

 แพทย์ไทยสุดเจ๋งผลิต “ผิวหนังสังเคราะห์”

          วงการแพทย์ไทยประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังจากคณะวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สามารถใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อมาช่วยพัฒนาผิวหนังสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับหนังแท้ มาใช้ในการรักษาผู้บาดเจ็บจากการถูกไฟไหม้ ป้องกันแผลเป็น หรือผิวหนังหดรั้งที่จะนำไปสู่ความพิการได้ โดยมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ 10 เท่า

 

          ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน มีการเปิดเผยถึงความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อมาทดลองค้นคว้า “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผิวหนังสังเคราะห์ต้นแบบ” (pore skin : artificial dermis) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับหนังแท้เพื่อใช้ในการป้องกันความพิการ และความทุกข์ทรมานเรื้อรังจากแผลเป็นหดรั้งที่เกิดจากไฟไหม้

 

          ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยครั้งนี้ เผยว่า เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อคือ การสร้างหรือสังเคราะห์อวัยวะใหม่ทดแทนอวัยวะเก่า โดยในส่วนของการสังเคราะห์ผิวหนังมนุษย์นั้น เป็นการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟไหม้ ไฟคลอกเพื่อไม่ให้ผิวหนังมีสภาพหดรั้งหรือพิการ ปัจจุบันผิวหนังสังเคราะห์จะต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในราคาแผ่นละ 20,000-50,000 บาท แต่สิ่งที่น่ายินดีคือ ขณะนี้เราประสบความสำเร็จในการพัฒนาผิวหนังสังเคราะห์ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงต่างประเทศ และมีราคาถูกกว่าถึง 10 เท่า

 

          ส่วนรายละเอียดในด้านการวิจัยผิวหนังสังเคราะห์นั้น ผศ.นพ.ถนอมบอกว่า คณะนักวิจัยมีทั้งหมด 8 คน เริ่มต้นทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการกับหนูทดลองเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2548 โดยได้รับงบประมาณวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กว่า 13 ล้านบาท เหตุผลที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อให้ประเทศไทยเริ่มต้นพึ่งพาตนเองจากเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง และไม่ต้องจ่ายสิทธิทางปัญญาที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์วิศวกรรมเนื้อเยื่อในมาตรฐานสากล คาดว่าราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2,000 บาท ทั้งนี้ โครงการวิจัยขั้นต่อไปจะมีการทดสอบใช้จริงกับผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้

 

          “ผิวหนังสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นมานี้ ได้รับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัสดุปิดแผลตามมาตรฐานไอเอสโอ และผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ผศ.นพ.ถนอมกล่าว

 

          ส่วนการผลิตผิวหนังสังเคราะห์ หัวหน้าโครงการวิจัยครั้งนี้บอกว่า ทำมาจากคอลลาเจนที่สกัดจากผิวหนังมนุษย์ มีลักษณะเป็นแผ่นซิลิโคนปิดแผลทำปฏิกิริยากับแผล โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนที่มีการเรียงตัวแบบอิสระ มีคุณสมบัติคล้ายกับหนังแท้ การเกิดเนื้อเยื่อนี้เป็นไปพร้อมกับการงอกของระบบหลอดเลือดภายใน ไม่เกิดการอักเสบหรือเป็นหนอง ยับยั้งสภาวะแผลเป็นหรือผิวหนังดึงรั้ง ตลอดจนช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ขนาดใหญ่เป็นผู้พิการถาวร

 

          “นับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อครั้งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จากผลการทดลองพบว่า หลังจากปิดแผลภายใน 3 สัปดาห์ แผ่นซิลิโคนจะสมานเข้ากับบาดแผล สังเกตได้ว่าเนื้อเยื่อจะมีลักษณะสีชมพู ปฏิกิริยาระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อกับผิวหนังสังเคราะห์จะไม่มีการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เกิดเนื้อเยื่อที่สมบูรณ์ ด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะรูพรุนจะช่วยเพิ่มความซึมผ่านของอากาศและอาหารได้ดีกว่าโครงสร้างที่ตัน นอกจากนี้ยังไม่เป็นพิษหรือระคายเคืองอีกด้วย” ผศ.นพ.ถนอมกล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

update : 04-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code