แพทย์แนะวิธีป้องกันโรคติดต่อทางอาหาร-น้ำ
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
แพทย์แนะรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ และอาหารที่มีแมลงวันตอม
นายแพทย์ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่1.โรคอุจจาระร่วง อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากหรือถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือดอาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย 2.โรคอาหารเป็นพิษ อาการที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย และอาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย 3.โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหารผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อบิดปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญ คือ มีไข้ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย มีมูก หรือมูกปนเลือด 4.โรคอหิวาตกโรค อาการที่สำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง ผู้ป่วยจะอาเจียน กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย 5.โรคไข้ไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อย อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเสียได้
ผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะโรคไข้ไทฟอยด์ ควรหลีกเลี่ยงการประกอบอาหาร เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรค 6.โรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งอาจเกิดกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแตเป็นต้น 7.โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป อาการที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ ความดันโลหิตต่ำ
สำนักอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมป้องกันโรค โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ และอาหารที่มีแมลงวันตอมควรใช้ฝาชีครอบอาหาร หรือใส่ตู้กับข้าวให้มิดชิด ล้างผัก และผลไม้หลายๆ ครั้ง ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
สำหรับโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยง ควรเฝ้าระวังและป้องกัน ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละครั้ง ระวังบุตรหลาน ไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขสนอ. ทุกแห่ง โรงพยาบาลใกล้บ้าน และกองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.โทร.02-2032887 ในวันและเวลาราชการ