แพทย์แนะปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักให้ถูกวิธี
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
จากความเชื่อถึงการปฐมพยาบาลโรคลมชัก ที่หลายคนคงเคยได้ยินมา ว่าให้ใช้ช้อนหรือวัสดุต่างๆ ใส่เข้าไปในปากผู้ป่วย เพื่องัดปากกั้นระหว่างฟันกับลิ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเผลอกัดลิ้นตนเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิโมทัยแพทย์ประสาทวิทยาด้านโรคลมชักในผู้ใหญ่ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคลมชักครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้ความรู้ในหนังสือ ฬ.จุฬา ว่า โรคลมชักเป็นภาวะที่เซลล์สมองปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมามากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บในวัยเด็กทำให้สมองขาดออกซิเจน หรือเกิดหลังจากอุบัติเหตุ ทางสมอง หรืออาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง พยาธิสมอง หรือโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกในผู้สูงวัย และบางราย อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผล ทั้งทางด้านร่างกาย เช่นเมื่อเกิดอาการชัก ก็จะทำให้ผู้ป่วยล้มลง และเกิดการบาดเจ็บในอวัยวะส่วนอื่นตามมา ส่วนผลกระทบด้านสังคม ในบางครั้งถึงแม้แพทย์จะยืนยันว่าอาการชักของผู้ป่วยสามารถควบคุมได้แล้วก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังไม่ได้รับโอกาสในการทำงาน และไม่ได้รับความสนใจจากคนในสังคมเท่าที่ควร
เมื่อถามถึงการทำงานของศูนย์ฯ และกระบวนการรักษาผู้ป่วย อ.นพ.ชูศักดิ์ เล่าว่า ศูนย์ความเป็นเลิศทางการ แพทย์โรคลมชักครบวงจร แห่งนี้ได้ริเริ่มการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อยาด้วยการผ่าตัดเป็นแห่งแรกของประเทศและของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วกว่า 1,000 ราย ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้มีการใช้ เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยระบุจุดกำเนิดการชัก ในผู้ป่วยที่มีอาการชักแบบซับซ้อนที่ดื้อยาหลายชนิด เครื่องมือ ดังกล่าวนี้คือ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองด้วยการจัดวาง ขั้วไฟฟ้าแบบละเอียด (256-channel Dense Array Electro encephalography : dEEG) เครื่องมือนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้แม่นยำขึ้นในผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนของโรคมาก และมีความยากในการระบุจุดกำเนิดการชักเพื่อการผ่าตัด ข้อมูลที่ได้จากการตรวจด้วยเครื่องมือนี้จะถูกนำมาประกอบในการพิจารณารูปแบบและวิธีการผ่าตัด ซึ่งการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยในการผ่าตัดผู้ป่วย จะได้รับ ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อยลง และยังช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วยด้วย โดยก่อนหน้านี้โรงพยาบาลได้จัดส่งทีมแพทย์ของศูนย์ไปศึกษาการตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง ณ โรงพยาบาล Seirei Hamamatsu General Hospital ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นหนึ่งใน ไม่กี่แห่งในทวีปเอเชียที่มีผู้เชี่ยวชาญ ในการตรวจเครื่องมือนี้ (dEEG) ในผู้ป่วยลมชัก
นอกจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่เป็นเลิศแล้ว อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิโมทัย กล่าว เพิ่มเติมด้วยว่า การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชักให้กับคนในสังคม ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของศูนย์ฯ โดยศูนย์ได้จัดทำ วีดีโอแอนิเมชั่นเพื่อเป็นสื่อการสอนให้กับเด็กๆ และหน่วยงาน ทั่วไปให้รู้เท่าทันโรคลมชัก และสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ คุณหมอยังได้ฝากความรู้เบื้องต้นในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักให้ถูกวิธีว่า หากพบหรือเจอ ผู้ป่วยกำลังอยู่ในอาการชักให้จัดผู้ป่วยนอนบนพื้นในบริเวณที่ปลอดภัย ปราศจากของมีคม โดยจับให้นอนตะแคง เพื่อป้องกันวัสดุต่างๆ เช่น ฟันปลอม ฯลฯ ปิดกั้นทางเดินหายใจและป้องกันการสำลักอาหารลงปอด โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะหายชักเอง แต่หากชักนานเกิน 5 นาที ให้รีบนำส่งสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป