แพทย์เตือน นอนกัดฟันเรื่องเล็กที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา :  เว็บไซต์แนวหน้า


แพทย์เตือน นอนกัดฟันเรื่องเล็กที่ไม่ควรมองข้าม thaihealth


แฟ้มภาพ


จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า ประชากรโลกกว่าร้อยละ 45 เคยมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งจากการนอน เช่น นอนละเมอ นอนกรน หรือนอนกัดฟัน ในขณะที่ร้อยละ 35 มีอาการนอนไม่หลับ เมื่อนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ รู้สึกง่วงและหาวอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงระหว่างวันลดลง


อ.พญ.บุษราคัม ชัยทัศนีย์ คณะกรรมการประจำศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เผยถึง อันตรายเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้ามจากการนอนกัดฟัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคผิดปกติจากการหลับได้ใน “วารสารฬ.จุฬา โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยอ.พญ.บุษราคัม อธิบายว่าการนอนกัดฟันนั้นเป็นความเสี่ยงที่พบได้จากโรคปกติจากการนอนหลับ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มารักษาที่ศูนย์นิทราเวชมักไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองมีปัญหานอนกัดฟัน แต่มาตรวจพบที่หลัง สาเหตุการนอนกัดฟันเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวขณะหลับเป็นผลทำให้มีการกัดเน้นฟัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งปกติ ที่น่าสนใจ คือการนอนกัดฟันจะพบในช่วงวัยเด็กมากที่สุด ร้อยละ 15-40 ขณะที่ในช่วงวัยผู้ใหญ่จะพบเพียงร้อยละ 8-10


แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการนอนกัดฟันจะต้องประสบกับปัญหาโรคผิดปกติจากการหลับกล่าวคือ การนอนกัดฟันยังสามารถเกิดจากปัจจัยชั่วคราวได้อีกด้วยเนื่องจากการนอนกัดฟันของแต่ละคนมีความถี่ไม่เท่ากันถ้าการนอนกัดฟัน เป็นเพียงสภาวะชั่วคราวที่เกิดจากความเครียด


 “การใช้ยาหรือสารเสพติดบางประเภท หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ก็ให้สังเกตอาการไปก่อน แต่หากมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการกัดฟันมากขึ้น เช่น นอนกัดฟันอย่างรุนแรง ตื่นเช้ามาปวดขากรรไกรปวดศีรษะ เสียวฟัน ฟันสึก มีแผลในปาก หรือกระพุ้งแก้มจนถึงขั้นฟันโยก หรือมีคนใกล้ตัวบอก ก็ควรมาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพราะอาจมีความผิดปกติจากการหลับอื่นๆ เช่น ภาวะหยุดหายใจ ขณะหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วยหรือหากนอนละเมอร่วมกับนอนกัดฟัน ก็ควรพบแพทย์ เพราะสาเหตุเหล่านี้สามารถรักษาได้”


สำหรับการรักษาการนอนกัดฟันในอดีตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ คือ การใส่เฝือกสบฟัน(Occlusal Splint) เป็นเครื่องมือที่ใช้ใส่ในช่องปากเพื่อป้องกันการสึกของฟัน มี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดนุ่มและชนิดแข็ง ซึ่งทั้งสองชนิดมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน เช่น เฝือกสบฟันชนิดนุ่ม เมื่อใช้ไปนานๆ อาจฉีกขาดได้ หรือเฝือกสบฟันชนิดแข็ง หากใช้ไปสักระยะหนึ่งอาจเกิดรอยสึกหรือแตกได้ แต่ปัจจุบันการนอนกัดฟันสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าการนอนกัดฟันนั้นเป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากโรคผิดปกติจากการหลับ เช่นภาวะหยุดหายใจ ขณะหลับ หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea : OSA)


สำหรับขั้นตอนการรักษาและวินิจฉัยภาวะดังกล่าวของศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด จากนั้นแพทย์จะพิจารณา ตรวจการนอนหลับ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัยเพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรคและพิจารณาแนวทางในการรักษา รวมถึงการวินิจฉัยแยกโรคความผิดปกติจากการนอนหลับอื่นๆ ที่อาจตามมา เช่น อาการนอนกรนนอนกัดฟัน หลับไม่สนิท ง่วงนอนตอนกลางวัน เป็นต้น


การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography :PSG) หรือ Sleep Test คือการตรวจเพื่อวินิจฉัย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับรวมทั้งโรคความผิดปกติจากการหลับอื่น โดยแพทย์จะติดอุปกรณ์ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายระหว่างหลับ ได้แก่ คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเคลื่อนไหวของลูกตา ความลึกและรูปแบบของการหายใจ เสียงกรนระดับออกซิเจนในเลือด การขยับหรือกระตุกของขา รวมถึงการถ่ายวีดีโอขณะผู้ป่วยนอนหลับเพื่อสังเกตท่าทางการนอน และความผิดปกติทางพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้น เช่น การนอนละเมอหรือนอนกัดฟันโดยผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่ศูนย์นิทราเวช ส่วนใหญ่แล้วหามีสภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมกับอาการนอนกัดฟัน เมื่อเข้ามารักษาแล้วจะสามารถหลับได้อย่างเต็มอิ่มและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น


สำหรับผู้สงสัยว่าอาการนอนกัดฟันของตนเองอาจเป็นปัจจัยที่มาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกำลังประสบกับปัญหาเรื่องการนอน ไม่ว่าจะเป็นนอนหลับยาก มีอาการง่วงนอน ทั้งวัน นอนละเมอนอนกรน หรือฝันร้ายมากจนหลับไม่สนิท อ.พญ.บุษราคัม แนะนำว่าควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความผิดปกติจากการหลับ (Sleep Medicine Specialist) เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับชนิดที่เหมาะสม

Shares:
QR Code :
QR Code