แพทย์ห่วง ‘สตรีทฟู้ด’ ทำคนไทยกินเค็มเกิน

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


แพทย์ห่วง 'สตรีทฟู้ด' ทำคนไทยกินเค็มเกิน thaihealth


แพทย์ห่วง'สตรีทฟู้ด'ทำคนไทยกินเค็มเกิน แนะติดคำเตือนฉลากเครื่องปรุง-ดึงอปท.ร่วมตรวจสอบ


23 เม.ย.62 ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวในงานประชุมหารือการทำงานร่วมกับสื่อมวลชน เรื่อง "แนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย" ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ ว่า "สตรีทฟู้ด" (Street Food) หรืออาหารประเภทร้านหาบเร่แผงลอยริมถนน แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยแต่มีผู้ค้าจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้บริโภคโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการสำรวจพบว่าต้องมีอย่างน้อย 1 มื้อต่อวันที่บริโภคอาหารจากร้านค้าเหล่านี้ ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารของพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ให้ลดส่วนผสมของโซเดียมอันเป็นสารให้ความเค็ม เช่น เกลือหรือน้ำปลาลง หัวใจสำคัญอยู่ที่ความรู้ของผู้บริโภค ดังจะเห็นหลายคนมีการสั่งอาหารพร้อมระบุว่าขอแบบเค็มน้อย ถ้าชิมแล้วไม่พอเดี๋ยวเติมเอง หากผู้บริโภคสั่งแบบนี้ผู้ผลิตก็จะปรับเปลี่ยน แต่หากไม่สั่งผู้ค้าก็จะใส่เครื่องปรุงแบบเต็มที่


ขณะเดียวกันบรรดาเครื่องปรุงที่ให้รสเค็มตนเสนอว่าควรมีฉลากเตือนอันตรายจากการบริโภคในปริมาณมากเกินไปติดไว้ข้างภาชนะบรรจุ คล้ายกับฉลากบุหรี่หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เชื่อว่าน่าจะมีผลทำให้ผู้บริโภคที่เห็นคำเตือนดังกล่าวหยุดคิดก่อนว่าสมควรปรุงหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวคิดการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโซเดียมสูง หรือที่เรียกกันว่าภาษีความเค็มนั้น ไม่เก็บสินค้าประเภทเครื่องปรุง แต่เก็บเฉพาะอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาทิ บะหมี่หรือโจ๊ก รวมถึงขนมขบเคี้ยวเท่านั้น จึงไม่เป็นภาระกับประชาชน


ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า อาหารแบบสตรีทฟู้ดไม่ได้มีเฉพาะใน กทม.แต่มีทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของต่างจังหวัดนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถเข้ามามีบทบาทได้


“องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดทีมไปลองชิมดู มันมีเครื่องมือที่จุ่มลงไปแล้วมีเครื่องหมาย ถ้าหน้าเบ้ก็แปลว่าเค็ม ถ้าปากตรง ๆ แสดงว่าพอดี แล้วก็ไปเตือนไปให้คำแนะนำ บอกว่าต่อไปนี้คนจะไม่มาซื้อร้านคุณถ้าคุณยังทำอันตรายต่อประชาชนแบบนี้ ก็เหมือนกรมอนามัยที่มีเครื่องหมายไปติดตามร้านแผงลอยต่าง ๆ” นพ.วิวัฒน์ กล่าว


นพ.วิวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี และพบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอาหารรสเค็ม ดังนั้นหากสามารถทำให้คนไทยลดการบริโภคเค็มลงก็จะลดความสูญเสียได้ ทั้งนี้คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามนุษย์ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

Shares:
QR Code :
QR Code