แพทย์ห่วงเด็กตาสั้นเทียม ผู้ปกครองเข้าใจผิดพาไปตัดแว่น

จักษุแพทย์ออกโรงเตือนภาวะสายตาสั้นเทียมในเด็กต่ำกว่า 12 ปี ห่วงผู้ปกครองเข้าใจผิดแห่พาเด็กตัดแว่นมั่ว ก่อปัญหาสายตาสั้นภายหลัง แนะมีปัญหาสายตาควรพบแพทย์

หมอเผยเด็กสายตาสั้นเทียมอื้อ ห่วงตัดแว่น ไม่ปรึกษาหมอ

รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบภาวะสายตาสั้นเทียมโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี  ซึ่งพบว่าเด็ก 1 ใน 10 ที่เข้ามาพบจักษุแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสายตาจะเกิดภาวะตาเทียมหรือ 4-5% ของเด็กที่มีปัญหาสายตาสั้น ขณะที่สถานการณ์สายตาสั้นในภาพรวมของเด็กไทยพบว่า มีราว 20-30% ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติ

รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับอาการสายตาสั้นเทียมจะมีภาวะตามัว เลือนราง และมองภาพเบลอ ซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นเร็ว ช้า ไม่เท่ากัน บางรายใช้คอมพิวเตอร์นานก็จะ มีอาการค้างเป็นวัน ขณะบางรายเกิดขึ้นแค่ 15 นาที-1 ชั่วโมง โดยสาเหตุเกิดจากการพยายามเพ่งมองและโฟกัสไปในจุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป ดวงตาจะเมื่อยล้า และคลายจุดโฟกัสช้า แม้ไม่ได้เกิดผลกระทบรุนแรงแต่ก็ถือเป็นอาการที่น่าห่วง

รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ปกครองบางรายเข้าใจไปเองว่าลูกอาจสายตาสั้นจริง ก็พาเข้าไปวัดสายตาตามร้านจำหน่ายแว่น  ซึ่งหากอาการเกิดขึ้นนาน 1 ชั่วโมง ถึง 1 วัน ผลการวัดก็ออกมาชี้ชัดว่าสายตาสั้นมากน้อยแตกต่างกัน กรณีนี้ทำให้เด็กสายตาปกติคุ้นชินกับการใช้แว่นสายตาและเมื่อใช้นานๆ เข้า สายตาก็จะสั้นลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทาง เนื่องจากภาวะสายตาสั้นเทียมไม่ได้อันตรายมากนัก เพียงแค่ดวงตาอ่อนล้า เพลีย และไม่มีแรงจะโฟกัสภาพก็เท่านั้น ซึ่งเมื่อได้รับการพักผ่อน หลับตาพักก็จะดีขึ้นได้แล้ว เว้นแต่รายที่เป็นนาน 1-2 วัน กรณีจ้องจอคอมพิวเตอร์เล่นเกมนานต่อเนื่องประมาณ 7-10 ชั่วโมง ก็เสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าวได้บ่อย

“ขอเตือนผู้ปกครองว่า หากสงสัยว่าบุตรหลายอายุต่ำกว่า 12 ปีมีปัญหาสายตาหรือไม่ ให้ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกจักษุแพทย์จะดีที่สุด ซึ่งก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าผิดปกติหรือไม่ต้องนัดตรวจซ้ำอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจ และหากพบว่าเป็นสายตาสั้นเทียมก็จะแนะนำแค่ให้พักสายตา โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาใดๆ” รศ.นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

 

          

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการรายวัน

Shares:
QR Code :
QR Code