แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) เปิดรับโครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อครอบครัว
ประกาศ
แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)
เรื่อง การสนับสนุนโครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อครอบครัว
เปิดรับโครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อครอบครัว จำนวน 1 รายการ
รับสมัครโครงการ วันที่ 1 – 15 กันยายน 2553
พิจารณาโครงการ วันที่ 20 กันยายน 2553
ประกาศผล วันที่ 22 กันยายน 2553
แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานคณะกรรมการสนับสนุนกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มียุทธศาสตร์หลักในการเสริมสร้างให้เกิดสื่อดีที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนและครอบครัวเปิดรับโครงการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อครอบครัว จำนวน 1 รายการ มีรายละเอียดดังนี้
เกณฑ์การพิจารณารายการโทรทัศน์เพื่อครอบครัว
หลักการทั่วไป
1.1 เป็นรายการที่มุ่งสร้างเสริมการเรียนรู้ของครอบครัวในการเป็นผู้บริโภคและพลเมืองที่เท่าทันสุขภาพ เท่าทันสื่อ กระตุ้นให้เกิดการคิด การตั้งคำถาม การมีส่วนร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ในเรื่องวิถีสุขภาวะ
1.2 รูปแบบการนำเสนอน่าสนใจ สอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครอบครัวในชุมชนระดับรากหญ้า นำเสนอในรูปแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นจุดต่างจากรายการทั่วไป และที่สำคัญควรเป็นรายการที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิด การเรียนรู้ และพัฒนาความเป็นพลเมือง (citizenship) ที่กระตือรือร้น และมีส่วนร่วมของผู้ชม หลีกเลี่ยงการนำเสนอที่ทำให้ผู้ชมเป็นผู้บริโภคสินค้าที่สนับสนุนรายการ
1.3 กระบวนการผลิตรายการฯมีการมีส่วนร่วม และมีโอกาสในการขยายผลร่วมกับภาคีเครือข่ายของ สสย. และสสส. ที่ทำงานในชุมชนต่างๆในการสร้างเสริมสุขภาวะของครอบครัว
1.4 มีกระบวนการ/วิธีการวิเคราะห์/ศึกษากับกลุ่มเป้าหมายก่อนและหรือระหว่างดำเนินโครงการ มีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้าน เพื่อพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและทำให้เกิดการเรียนรู้
1.5 มีโอกาสสูงที่จะมีความต่อเนื่องยั่งยืน เมื่อ สสย.ยุติการให้ทุน
1.6 เป็นรายการที่ผลิตโดยทีมงานที่มีประวัติการทำงานที่ดี มีศักยภาพ และไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ
1.7 เป็นรายการที่ใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล
กลุ่มเป้าหมายรับชมรายการ คือ ครอบครัวในชุมชนระดับรากหญ้า
ความยาวของรายการ 25 นาทีต่อตอน จำนวน 12 ตอน
ออกอากาศอาทิตย์ละ 1 ตอน (เริ่มออกอากาศ 2 ตุลาคม 2553 )
งบประมาณการผลิตตอนละ 25 นาที ไม่เกิน 100,000 บาทต่อตอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบ และคุณภาพของรายการ และตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและส่งโครงการ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2553
ที่คุณศศิกานท์ พืชขุนทด สำนักงาน สสย. เลขที่ 15 ซ.อารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 หมายเลขโทรศัพท์ 02-6198113-5
คำแนะนำในการเสนอโครงการ
1) เอกสารโครงการรายการที่จะเสนอ ประกอบไปด้วยเอกสารโครงการที่มีรายละเอียดครบถ้วน (ตาม “แบบเสนอโครงการ”) พร้อมตัวอย่างสคริปของรายการและตัวอย่างรายการ (vcd หรือ dvd) จำนวน 10 ชุด
2) ควรส่งโครงการรายการแต่เนิ่นๆ สิ้นสุดการเปิดรับโครงการโดยพิจารณาจากวันประทับตรารับโครงการของ สสย. เป็นหลัก ตามเวลาทำการเท่านั้น)
3) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกประมาณวันที่ 22 กันยายน 2553 โดยจะแจ้งไปยังผู้ที่ได้รับคัดเลือก
4) ระยะเวลาเริ่มต้นโครงการ ควรให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่จะทราบผล
5) จะไม่พิจารณาอนุมัติกิจกรรมย้อนหลัง ในกรณีที่โครงการดำเนินงานไปแล้ว
6) ผู้ขอทุนควรเสนอรายละเอียดโครงการรายการให้มากที่สุด “โดยไม่ปิดบัง” เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ
7) คณะกรรมการจะพิจารณาการให้ทุนตามเกณฑ์ โดยจะรวมถึงการเปรียบเทียบโครงการต่างๆ ที่ขอทุน เข้ามาภายในรอบเดียวกันด้วย เพื่อให้การสนับสนุนทุนบังเกิดผลประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ภายใต้วงเงินที่ กำหนดไว้
8) โครงการรายการควรจัดให้มีการประเมินผลการผลิตและประเมินผลการรับชมรายการจากกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการพัฒนาโครงการรายการให้ดียิ่งขึ้น
9) ลิขสิทธิ์ของรายการที่ผลิตแล้วเสร็จทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุน จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของ สสย. ในการนำไปใช้ดำเนินการเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กเยาวชนและครอบครัว
หมายเหตุ ลักษณะโครงการรายการและประเภทรายจ่ายที่ สสส. ไม่สนับสนุน (ตามหลักเกณฑ์กลาง)
• โครงการรายการที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตสุราหรือยาสูบ หรือสินค้าทำลายสุขภาพอื่นๆ
• โครงการรายการที่มีลักษณะธุรกิจหากำไร หรือเป็นการลงทุนเพื่อแสวงหากำไร
• โครงการรายการที่เชื่อได้ว่าสามารถส่งผลประโยชน์ทางการเมืองแก่บุคคล หรือหน่วยงานนั้น
• โครงการรายการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการหาทุน ให้รางวัล หรือจัดซื้อรางวัล อันมิได้มีผลลัพธ์หลักเพื่อการสร้างสรรค์สังคม / เยาวชนโดยรวม
• โครงการรายการที่มีวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน หรือกระบวนการในการดำเนินงานไม่ชัดเจน
• โครงการรายการที่มีการเดินทางไปต่างประเทศ หรือไปประชุมต่างประเทศ ที่มิใช่ส่วนจำเป็น
• กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ สสส.ไม่สนับสนุนทุนแก่โครงการรายการที่ถือเป็นงานประจำของหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว
• โครงการรายการที่ไม่พยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับบุคคล หรือหน่วยงาน นอกเหนือจากผู้ที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง
• โครงการรายการจัดตั้งสำนักงาน หรือโครงการที่มีเจตนาหารายได้เข้าหน่วยงานเป็นหลัก
• โครงการรายการที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ อาคาร หรือรายการอันมิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับดำเนินโครงการ
• ครุภัณฑ์ที่ไม่ก่อประโยชน์ ไม่คุ้มค่า เช่น การซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง การสร้างห้องทำงาน หรือเป็นครุภัณฑ์ที่ผู้ดำเนินการสนับสนุนได้ เช่น เครื่องเสียง เครื่องดนตรี
• หน่วยงาน หรือบุคคลที่เคยได้รับทุนจาก สสส. มาก่อน และมีประวัติด่างพร้อยในการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตาม ข้อตกลง หรือได้สร้างความเสื่อมเสียแก่ สสส. หรือแก่บุคคลอื่นๆ ในสังคม
ที่มา : แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน
update : 27-08-53
อัพเดทเนื้อหาโดย นพรัตน์ นริสรานนท์