แบคทีเรียดื้อยาได้อย่างไร
ปัจจุบันมีเชื้อหลายชนิดที่แทบไม่มียาใดรักษาได้
ยาต้านแบคทีเรียแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มตามโครงสร้างทางเคมีของยาเหล่านั้น เช่น แบ่งเป็นกลุ่มบีตาแลคแทม ควิโนโลนส์ และแมคโครไลด์ โดยเพนนิซิลลินเป็นสมาชิกในกลุ่มบีตาแลคแทม นอร์ฟล็อกซาซินเป็นสมาชิกในกลุ่มควิโนโลนส์ และอีริโทรมัยซินเป็นสมาชิกในกลุ่มแมคโครไลด์
ยาต้านแบคทีเรียบางกลุ่ม เช่นยาในกลุ่มแมคโครไลด์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียด้วยการขัดขวางการสร้างโปรตีน
ยาต้านแบคทีเรียบางกลุ่ม เช่นยาในกลุ่มบีตาแลคแทมออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยการขัดขวางการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียมีผนังเซลล์ที่ไม่สมบูรณ์เซลล์จะแตกและตายไป
ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างผนังเซลล์จะออกฤทธิ์ได้ต่อเมื่อยาสามารถจับกับตัวรับที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามผิวเซลล์ของแบคทีเรีย
ยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างโปรตีนหรือสารที่จำเป็นในการขยายพันธ์จำเป็นต้องซึมผ่านผนังเซลล์ของแบคทีเรียเข้าไปภายในเซลล์ผ่านทางรูที่ผนังเซลล์ซึ่งใช้รับสารอาหารของแบคทีเรียแล้วทำการขัดขวางกระบวนการเมแทบอลิซึมภายในเซลล์ของแบคทีเรีย
แบคทีเรียดื้อยาได้ด้วยการกลไกต่างๆ หลายวิธีเช่นสร้างเอ็นไซม์มาทำลายยาเพื่อไม่ให้ยาสัมผัสกับตัวรับ เปลี่ยนแปลงรูปร่างของตัวรับทำให้ยาไม่สามารถจับกับตัวรับได้
ยิ่งมีการใช้ยาต้านแบคทีเรียมาก แบคทีเรียยิ่งพัฒนาวิธีการดื้อยามากขึ้น ปัจจุบันมีเชื้อหลายชนิดที่แทบไม่มียาใดรักษาได้ปรากฏเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เช่นเชื้อเอ็มอาร์เอสเอ เชื้อวีอาร์อี เชื้อเอ็มดีอาร์ เชื้อพีอาร์เอสพีและเชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ เป็นต้น
ที่มา : ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล (มติชน)
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 28-01-51