แนะ 8 วิธีเซฟหู เนื่องในวันการได้ยินโลก
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
แฟ้มภาพ
คนไทยมีปัญหาการได้ยินกว่า 2.7 ล้านคน เทียบเท่าคนในโคราช คาดปี 68 จะพบมากถึง 1 ใน 10 คน เหตุอยู่ในสิ่งแวดล้อมเสียงดังขึ้น ทั้งที่ทำงาน สถานบันเทิง คอนเสิร์ต โรงหนัง ปาร์ตี้ ใช้หูฟัง แนะ 8 วิธีช่วยเซฟหูจากการได้ยินเสียงดังและนาน
ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวโครงการ Wrold Hearing Day – วันการได้ยินโลก ว่า ทั่วโลกมีประชากรที่มีปัญหาการได้ยินราว 360 ล้านคน ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า วัยรุ่นและวัยทำงานมีความเสี่ยงต่อภัยจากเสียงมากขึ้นจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันราว 1,000 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาการได้ยินประมาณ 2.7 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับจำนวนประชากรจังหวัดนครราชสีมา หากไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข ภายในปี 2568 คาดว่าคนไทยทุก 10 คนจะเจอปัญหาการได้ยิน 1 คน ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน เนื่องจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมากขึ้น เช่น สถานที่ทำงาน สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ งานปาร์ตี้ต่างๆ หรืองานคอนเสิร์ต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ต้องเสียบหูฟัง เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือการเชื่อมต่อบลูธูท
พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์ นิวาตวงศ์ เลขานุการการจัดงานวันการได้ยินโลก กล่าวว่า ปัญหาการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังแบ่งเป็น 1.การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว มักพบมีเสียงในหูร่วมด้วย ระยะฟื้นตัวไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานาน อาจเกิดการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้ 2.การสูญเสียแบบถาวร พบมีการสูญเสียเซลล์ขน และการเสื่อมสลายของเส้นประสาท แบ่งเป็นการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง อาจเกิดจากการได้ยินเสียงดังๆ เป็นระยะเวลานาน หรือการได้รับเสียงดังมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน เป็นต้น ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการปวด เยื่อแก้วหูทะลุร่วมด้วย
พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์ กล่าวว่า การป้องกันตนเองไม่ให้ได้เกิดการสูญเสียการได้ยิน คือ 1.ปรับลดความดังเสียงลง 2.ใส่ที่อุดหูกันเสียง 3.ตั้งความดังเสียงในอุปกรณ์ต่างๆ ในระดับปลอดภัยคือประมาณ 60% ของความดังสูงสุดอย่างโทรศัพท์มือถือไม่ควรเกินระดับสีแดง 4.พักหูในช่วงที่มีกิจกรรมที่ต้องได้ยินเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน 5.จำกัดเวลาใช้หูฟังส่วนตัว ฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน 6.ประเมินระดับเสียงที่ได้ยิน โดยใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ที่วัดระดับความดังของเสียงได้ 7.ถ้าเริ่มมีความผิดปกติในการได้ยิน เช่น มีเสียงแว่วในหูคล้ายเสียงจิ้งหรีดหรือจักจั่น หรือเริ่มฟังคนอื่นพูดไม่รู้เรื่อง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ทันที และ 8.หน่วยงานหรือโรงเรียนควรสนับสนุนให้มีการจัดการตรวจคัดกรองการได้ยินอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง
"นอกจากระดับความดังของเสียงแล้ว ระยะเวลาที่ฟังเสียงก็มีความสำคัญ โดยการทำงานที่ใช้เวลา 8 ชั่วโมง กำหนดให้ระดับเสียงดังไม่เกิน 85 เดซิเบล ถ้าในที่มีเสียงดังมากกว่านี้ เช่น ในสถานีรถไฟใต้ดิน ที่มีเสียงดังถึง 100 เดซิเบล ก็ไม่ควรฟังเกิน 15 นาทีต่อวัน หรือหากฟังเสียงโทรศัพท์มือถืออาจมีความดังระหว่าง 75-135 เดซิเบล ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า ในร้านอาหารที่มีดนตรีอาจมีเสียงดังระหว่าง 104-112 เดซิเบล การได้ยินเสียงดังมากๆ แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ หรือดังไม่มากแต่ต่อเนื่องเป็นประจำ ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบถาวรได้" พ.อ.พญิง พญ.สายสุรีย์ กล่าว
พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์ กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมงานวันได้ยินโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 3 มี.ค.ของทุกปี โดยกิจกรรมในประเทศไทย ปีนี้จัดเป็นครั้งแรก เป็นความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ จัดงานพร้อมกันทั่วประเทศ ประกอบด้วย งานนิทรรศการวิชาการให้ความรู้ พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก และนักแก้ไขการได้ยินและสื่อความหมาย พร้อมทั้งบริการตรวจร่างกาย การคัดกรองการได้ยิน โดยสามารถเข้าร่วมได้ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่วันที่ 2-3 มี.ค. อาทิ รพ.พระมงกถฎเกล้า จัดกิจกรรมการได้ยินกับเทคโนโลยี 4.0 วันที่ 2 มี.ค. 2561 รพ.ราชวิถีจัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เรื่องโรคหู พร้อมทั้งตรวจการได้ยินและแจกอุปกรณ์ตรวจการได้ยินในวันที่ 3 มี.ค.นี้ เป็นต้น