แนะ 5 เทคนิคกล่อมลูกไปโรงเรียน
“กรมสุขภาพจิต” ระบุลูกไม่อยากไปโรงเรียนแต่ละช่วงวัยต่างกัน เด็กเล็กกลัวการพลัดพราก เด็กโตมีปัญหาเรื่องการเรียน ท้อ ไม่อยากไป แนะพ่อแม่หาสาเหตุให้เจอ พร้อมแนะ 5 เทคนิคกล่อมลูกไปเรียน
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังปิดเทอมใหญ่ที่หยุดยาวติดต่อกันหลายเดือน มักพบว่ายังมีเด็กๆ ส่วนหนึ่งที่ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดความทุกข์ใจ หงุดหงิด บางคนไม่เคยไปโรงเรียน พอต้องไปก็เกิดความกลัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็พลอยเครียดไปด้วย ซึ่งช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ ขอแนะนำเทคนิคให้ลูกอยากไปโรงเรียน คือ 1. ไม่หนีลูก มิเช่นนั้นเขาจะรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง 2. เมื่อพ่อแม่ต้องไปจริงๆ ขอให้กอดและหอมแก้ม พร้อมบอกกับลูกว่าจะกลับมารับ 3. พูดให้ลูกสบายใจ เช่น “รักลูกนะ สัญญาจะมารับตอนบ่าย” 4. หากพบว่าบางครั้งลูกร้องไห้กอดแขนขาแบบไม่อยากให้เราไป ต้องกลับมาดูว่า เป็นเพราะปัญหาที่บ้าน หรือเพราะปัญหาที่โรงเรียน ซึ่งต้องปรึกษาหารือกับครู และ 5. ถ้าลูกร้องติดต่อยาวนานกว่า 2 อาทิตย์ ต้องหาสาเหตุโดยด่วน ทั้งครู และที่บ้าน ถ้าพยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล ให้พาไปพบแพทย์
นพ.เจษฎา กล่าวว่า ปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียนแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน โดยเด็กเล็กจะเป็นเรื่องของการพลัดพราก ส่วนกลุ่มเด็กโตที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาจเกิดจากความบกพร่องทางการเรียนรู้ เรียนไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการอ่าน การเขียน การคำนวณ สมาธิสั้น ฯลฯ ซึ่งทำให้ท้อแท้หมดกำลังใจจะเรียนหนังสือต่อ อย่างไรก็ตาม หากค้นพบว่าปัญหาการเรียนของลูกคือสิ่งใด และสามารถให้การช่วยเหลือแก้ไขแต่เนิ่นๆ สิ่งเหล่านั้นก็จะดีขึ้นทำให้เด็กสามารถปรับตัวดีขึ้น มีความสุขกับการไปโรงเรียน
“พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรมีความเข้าใจ โดยเฉพาะการพัฒนาการตามวัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัยมีอารมณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างเด็กเล็กๆ จะซึมซับบทบาทของพ่อแม่ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่ผู้ปกครองมักมีความกังวลถึงการร้องไห้งอแง ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ที่เด็กวัยนี้มีความกังวลกับการที่ต้องห่างจากพ่อแม่ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะเรียนรู้ปรับตัวปรับใจ ส่วนกลุ่มวัยรุ่น เป็นการค้นหาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของตนว่าอยากจะเป็นอะไร ชอบอะไร ซึ่งเกราะที่จะช่วยป้องกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพวกเขา คือ ต้องช่วยให้เขาค้นพบความสามารถ ความชอบของตนเองเพื่อให้เขาเกิดแรงจูงใจอยากจะทำสิ่งนั้นให้ดี โดยพ่อแม่อาจจะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างๆ เป็นผู้ช่วยดูแลแนะนำการเรียนให้ค้นเจอความชอบของตนเอง เป็นการต่อยอดเตรียมตัวสู่ระดับมหาวิทยาลัย ช่วยลดความเครียดจากการสอบ ระบายความรู้สึกที่กดดันไม่ทำให้รู้สึกว่าอยู่คนเดียว ซึ่งเมื่อไรที่เขามีความทุกข์ก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต